xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เล็งกำหนดราคากลางแทนเบิกงบรายหัวแบบ DRG

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอประดิษฐ” เลิกเบิกงบรายหัวแบบ DRG ใช้เป็นเพียงเกณฑ์ประเมินโรงพยาบาลเท่านั้น เล็งกำหนดราคากลางแทน เชื่อช่วยแพทย์รักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อน พร้อมลดเบิกจ่ายผ่านกองทุนย่อย เน้นจัดสรรงบรายหัวไปยัง 12 เขตบริการ เผยเตรียมเสนองบรายหัวเข้า ครม.ใหม่สัปดาห์หน้า รวมเบี้ยเหมาจ่ายบุคลากรทางการแพทย์ด้วย ลั่นไม่ยุบคกก.ต่างๆรวมกับ คกก.นโยบายสุขภาพแห่งชาติ ยันหน้าที่ไม่ทับซ้อน คสช.
นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข
วันนี้ (12 มี.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมเรื่อง “การพัฒนากระทรวงสาธารณสุข” โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมการประชุม ว่า ที่ผ่านมาการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะดำเนินในรูปแบบกองทุนย่อยต่างๆ โดยให้สถานพยาบาลนำผลการทำงานมาเบิกตามเป้าชี้วัดของกองทุนย่อย แต่จากนี้ไปจะทำการเบิกจ่ายผ่านกองทุนย่อยให้น้อยที่สุด โดยจะจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวไปยังเขตบริการทั้ง 12 เขตของ สธ.ส่วนสถานพยาบาลจะเบิกที่เขตบริการแทน นอกจากนี้ ในส่วนของการเบิกค่าเหมาจ่ายรายหัวตามเกณฑ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) ในอนาคตจะมีการยกเลิกการเบิกตาม DRG แต่จะมีการกำหนดราคากลางสำหรับเป็นมาตรฐานของประเทศในการเบิก เช่น การผ่าตัดไส้ติ่งกรณีไม่มีโรคแทรกซ้อน จะได้รับเงิน 8,000 บาท แต่ราคากลางใหม่อาจกำหนดไว้ที่ 8,500 บาท เพื่อให้เงินส่วนต่างที่ รพ.ทำให้ผู้ป่วยไม่เกิดโรคแทรกซ้อนได้ เป็นรายรับของ รพ.แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นกับผู้ป่วย รพ.อาจต้องใช้เงินของโรงพยาบาลเองที่จะสมทบส่วนต่าง

ที่ต้องยกเลิกการจ่ายแบบ DRG เนื่องจากการจ่ายแบบนี้ หากเกิดโรคแทรกซ้อนกับผู้ป่วยมากก็จะเบิกค่ารักษาได้มาก ยิ่งทำให้การรักษาไม่ได้ผล แต่การจ่ายตามราคากลางที่กำหนด จะเป็นการส่งเสริมให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพและโรคแทรกซ้อนให้น้อยที่สุด ซึ่งจะยิ่งเป็นผลดีต่อประชาชน อย่างไรก็ตาม ระบบ DRG จะนำมาใช้ในระบบการประเมินผลการดำเนินการของรพ.แทน” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในปี 2557 ซึ่งเดิมจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้แต่ตนได้ขอถอนเรื่องออกก่อน เนื่องจากต้องการนำกลับมาพิจารณา เพื่อนำส่วนที่เป็นเงินเดือนของข้าราชการสังกัด สธ.และเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่ทุรกันดาร มารวมไว้ในงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งในส่วนของเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายประมาณ 3-4 พันล้านบาท คาดว่าจะนำเสนอเข้า ครม.ได้ในการประชุมครั้งหน้า โดยจะส่งผลให้งบประมาณสปสช.เพิ่มขึ้น และจัดสรรงบรายหัวในส่วนของเงินเดือนและเหมาจ่ายกลับมาให้กระทรวง ซึ่งจะทำให้เบี้ยเหมาจ่ายรายหัวเป็นงบที่ตายตัวและมั่นคงไม่ต้องเสนอขอเป็นช่วงเวลา รับงบประมาณเป็นก้อนๆ

นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า สำหรับคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดทิศทางนโยบายด้านสุขภาพและสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งจะเป็นการรวมคณะกรรมการด้านต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คณะกรรมการยาสูบแห่งชาติ คณะกรรรมพัฒนาระบบยา เป็นต้น เข้ามาเป็นคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ด้านนั้นๆ ซึ่งไม่มีการยุบรวมแต่อย่างใดเพราะแต่ละส่วนมี พ.ร.บ.เป็นของตนเอง แต่ทำให้เกิดการทำงานที่ชัดเจนเท่านั้น และขอยืนยันว่าคณะกรรมการชุดนี้ ไม่ได้ทับซ้อนกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจาก คสช.ทำหน้าที่เหมือนที่ปรึกษาของคณะกรรมการนี้ ที่จะรับข้อเสนอจากภาคประชาชนมาเสนอให้คณะกรรมการนโยบายอีกที
กำลังโหลดความคิดเห็น