xs
xsm
sm
md
lg

รพร.เชียงของ เดินหน้ารักษาคนไข้ปอดอุดกั้นเรื้อรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รพร.เชียงของ เดินหน้าดูแลรักษาผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังตามโครงการพัฒนาระบบฯ ของ สปสช.เน้นการใช้ยาสูดพ่นชนิดผสมในหลอดเดียวและฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ช่วยลดอัตราผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล พร้อมอัดฉีดเงินชดเชยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการของโรงพยาบาล

วันนี้ (8 ก.พ.) ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช (รพร.) เชียงของ จ.เชียงราย นพ.สมปรารถน์ หมั่นจิตต์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมากถึง 3 ล้านราย ส่วนประเทศไทยพบผู้ป่วยจำนวน 1.5 ล้านคน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายจากการรักษาถึง 12,735 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นร้อยละ 0.14 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) สำหรับ รพร.เชียงของ เป็นโรคลำดับต้นๆ ที่โรงพยาบาลรับไว้รักษาแบบผู้ป่วยในในแต่ละปี ซึ่งการรักษาที่มีคุณภาพนั้นจะต้องใช้ยาสูดพ่นชนิดผสมในหลอดเดียวกัน ซึ่งยามีราคาแพง ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถจัดหายาดังกล่าวให้กับผู้ป่วยได้ เมื่อทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ทำโครงการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และมีการชดเชยเพิ่มเติมให้กับสถานบริการที่ให้การดูแลตามมาตรฐานและชดเชยเป็นค่ายาดังกล่าว ทางโรงพยาบาลซึ่งเคยมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยโรคหืดที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากทาง สปสช.และมีผลลัพธ์การรักษาที่ดี ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาก จึงได้เข้าร่วมการโครงการดังกล่าวด้วย

สำหรับโครงการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มีแนวทางการรักษาที่ได้มาตรฐานแบบครบวงจร 4 แนวทาง ดังนี้ 1.การวินิจฉัย เน้นการใช้เครื่อง Spirometer เพื่อวัดสมรรถภาพปอดเพื่อประกอบการวินิจฉัย ทำให้วินิจฉัยได้ถูกต้อง แน่นอนขึ้น 2.การประเมินผู้ป่วย ใช้เครื่องมือประเมินคือแบบสอบถาม ประเมินการสูบบุหรี่ ประเมินระดับการเหนื่อย(Dyspnea Scale) ประเมินสมรรถภาพปอดด้วยเครื่อง Spirometer ประเมินความสามารถของระยะทางเดินของผู้ป่วยใน 6 นาที ทำให้จำแนกความรุนแรงของผู้ป่วยได้ชัดเจนขึ้น ส่งผลต่อการวางแผนรักษา 3.การรักษา ประกอบด้วยการเลิกบุหรี่ การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด และการรักษาด้วยยา โดยเฉพาะการใช้ยาสูดพ่นชนิดผสมในหลอดเดียวกัน (LABA+ICS) ซึ่งเป็นยาที่มีราคาแพงแต่ประสิทธิภาพในการรักษาสูง รวมทั้งผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงก็จะแนะนำให้มีออกซิเจนใช้ที่บ้าน และ 4.มีการติดตามและประเมินผลการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เมื่อปี 2555 ทาง รพร.เชียงของ มีผู้ป่วยโรคนี้ขึ้นทะเบียนไว้ 620 คน มีอาการกำเริบรุนแรงที่ต้องรับนอนแบบผู้ป่วยในจำนวน 127 คน 224 ครั้ง ซึ่งจากการดำเนินการดูแลรักษาแบบครบวงจรตามแนวทางดังกล่าว โดยเน้นการใช้ยาสูตรผสมในหลอดเดียวและการฟื้นฟูสมรรถภาพปอด ช่วยให้จำนวนผู้เข้ารับการรักษาลดลง

นพ.สมปรารถน์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการดูแลรักษาตามโครงการดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ สปสช.มีการชดเชยค่าต่างๆ ให้แก่โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ ดังนี้ 1.ค่าตรวจด้วยเครื่อง Spirometer จำนวน 400 บาทต่อราย 2.ค่ารับบริการ 100 บาทต่อครั้ง 3.ค่ายาสูดพ่นชนิดผสมในหลอดเดียวกันจำนวน 1,000 บาทต่อรายต่อปี และ 4.ค่าการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดจำนวน 1,000 บาทต่อรายต่อปี ซึ่งโรงพยาบาลจะต้องรวบรวมข้อมูลตลอดทั้งปีส่งให้แก่ สปสช.ภายในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยค่ารักษาในปี 2557
กำลังโหลดความคิดเห็น