xs
xsm
sm
md
lg

หนุน สปสช.เพิ่มเงินช่วยหมอ-พยาบาล เดือดร้อนจากบริการสาธารณสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายผู้เสียหายฯหนุน มติบอร์ด สปสช.เพิ่มเงินช่วยเหลือแพทย์ พยาบาล ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุขให้เท่าเทียมผู้ป่วย แนะควรครอบคลุมคนไข้และแพทย์สิทธิอื่นด้วย พร้อมวอน "หมอประดิษฐ" เร่งยกร่าง กม.คุ้มครองผู้เสียหายฯ เข้าสภา ประกบร่าง พ.ร.บ.คนไข้และแพทย์

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติปรับเพิ่มอัตราเงินช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่ได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 18(4) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ว่า ถือเป็นข่าวดีที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ความสำคัญกับชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์เทียบเท่ากับชีวิตของคนไข้บัตรทองอย่างเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตาม เงินช่วยเหลือเบื้องต้นนี้ ไม่ใช้เงินชดเชยความเสียหายและไม่สามารถเยียวยาความเสียหายในระยะยาวได้ อีกทั้งไม่ได้ครอบคลุมคนไข้และแพทย์ในสิทธิอื่น เช่น ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ หรือจ่ายเงินเองในโรงพยาบาลและคลินิกเอกชน

นางปรียนันท์ กล่าวอีกว่า หาก รมว.สาธารณสุข สามารถช่วยผลักดันให้มีการชดเชยความเสียหายให้กับคนไข้ที่เดือดร้อนทุกสิทธิด้วยการเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ จะถือเป็นข่าวดียิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นวาระค้างพิจารณาอยู่ในสภา ทั้งที่เป็นกฎหมายที่ประชาชนเรียกร้องมานานนับสิบปีแล้ว เพื่อให้มีการชดเชยความเสียหายให้กับคนไข้ทุกสิทธิ แต่มีปัญหาติดขัด คือ ทางสภารอร่าง พ.ร.บ.ฉบับของ สธ.ซึ่งจะถือเป็นร่างหลักของรัฐบาล ส่งเข้าประกบร่าง พ.ร.บ.สองฉบับของคนไข้และแพทย์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“ทราบว่า สธ.ได้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงร่างกฎหมายตั้งแต่ เม.ย.2555 เพื่อยกร่างหลัก แต่ถึงวันนี้ยังไม่มีการปรับปรุงร่างกฎหมายแม้แต่มาตราเดียว แต่กลับมีการตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณาว่าควรมีหรือไม่ควรมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทำให้เครือข่ายมีความวิตกกังวล ว่า ตราบใดที่กระทรวงไม่ส่งร่างหลักเข้าสภา ทางสภาก็จะไม่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้” ปธ.เครือข่ายผู้เสียหายฯ กล่าว

นางปรียนันท์ กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้คนไข้ไทยทุกสิทธิไม่มีระบบชดเชยความเสียหาย เกือบทุกรายต้องไปต่อสู้คดีในศาลแบบไม่เท่าเทียมกัน เวชระเบียนมักถูกแก้ไข พยานทางการแพทย์หาแทบไม่ได้ ต้องสู้คดีกันนานนับสิบปี และคนไข้มักแพ้คดีเป็นส่วนใหญ่ จึงหวังว่า รมว.สาธารณสุข จะให้ความสำคัญ และเห็นใจในความทุกข์ยากของประชาชน ช่วยปลดปล่อยความทุกข์ของคนไข้ไทยทั้งประเทศในเร็ววัน

อนึ่ง การปรับอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ให้บริการใหม่เป็นดังนี้ 1.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จากเดิมจ่ายไม่เกิน 200,000 บาท ปรับเป็น 240,000-400,000 บาท 2.สูญเสียอวัยวะ หรือพิการที่มีผลต่อการดำเนินชีวิต จากเดิมจ่ายไม่เกิน 120,000 บาท ปรับเป็น 100,000-240,000 บาท และ 3.บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จากเดิมจ่ายไม่เกิน 50,000 บาท ปรับเป็นไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ หากกรณีพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเพิ่มอัตราการจ่ายเป็น 2 เท่าของอัตราใหม่ หรือ 4 เท่าจากอัตราเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น