xs
xsm
sm
md
lg

หนุนเครือข่าย ปชช.ตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช.หนุนเครือข่ายประชาชนตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันฯ หวังคุ้มครองสิทธิ ประสานแก้ไขเรื่องร้องเรียน หนุนกลไกมีส่วนร่วมพัฒนา ชี้ 10 ปี มีศูนย์ 134 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งเป้าดูแลสุขภาพในระดับชุมชน ดึงประชาชนมีส่วนร่วมจัดการในชุมชนตนเอง

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เจตนารมณ์ที่สำคัญประการหนึ่งของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 คือ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการบริหารจัดการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สปสช.ได้สนับสนุนและส่งเสริมเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพในรูปแบบต่างๆ เช่น กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (อบต./เทศบาล) และศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน

ทั้งนี้ การดำเนินงานของภาคประชาชนในการจัดตั้งศูนย์ตั้งแต่เริ่มในปี 2547 มี 29 ศูนย์ครอบคลุม 21 จังหวัด อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินการ 10 ปี จนถึงปัจจุบันมี 134 ศูนย์ครอบคลุม ใน 77 จังหวัด การดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถช่วยให้ประชาชนเข้าถึงรับรู้ถึงสิทธิหน้าที่และการรับเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ ในการเข้ารับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ได้ทั้งเชิงรุกและการตั้งรับ เป็นการดำเนินงานที่มีกระบวนการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อการเผยแพร่ข้อมูล สร้างความรู้ความเข้าใจโดยประชาชนสู่ชุมชนด้วยกันเอง รับเรื่องร้องทุกข์ แก้ไขปัญหาเบื้องต้น เกิดความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ให้บริการ

“ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมคือ กลไกเครือข่ายประชาชนมีศักยภาพเกิดความเข็มแข็ง สามารถเข้าร่วมเป็นกรรมการในการร่วมกำหนดนโยบายระดับประเทศ ระดับเขตและระดับจังหวัด รวมถึงการสร้างองค์ความรู้และประสบการณ์ในระบบหลักประกันสุขภาพ ส่งผลให้เกิดแกนนำผู้แทนภาคประชาชนมีส่วนร่วมบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (อบต./เทศบาล) ตลอดจนการผลักดันสิทธิประโยชน์ เช่น โรคไต หัวใจ จิตเวช ปลูกถ่ายหัวใจ และการผ่าตัดปลูกถ่ายตับในเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี” เลขาธิการ สปสช.กล่าว

นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขผู้แทนองค์กรเอกชนด้านเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ผลการดำเนินงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเป็นนวัตกรรมที่ดีในการสร้างความเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือ การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายประชาชนกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้เข้ามีส่วนรวมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพอย่างเข้มแข็ง สร้างกลไกให้เกิดการพัฒนาการมีส่วนร่วม ในระดับนโยบาย ระดับเขต ระดับจังหวัดและระดับพื้นที่ สนับสนุนการมีส่วนร่วม เน้นการตอบสนองการดูแลสุขภาพระดับบุคคล ชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถดูแลสุขภาพด้วยตนเอง โดยกลไกส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคในชุมชนท้องถิ่น สร้างความร่วมมือในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งประชาชน วิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกัน โดยเชื่อมโยงแผนงานและงบประมาณในระดับท้องถิ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น