xs
xsm
sm
md
lg

รพ.จุฬาภรณ์เฝ้าระวังมะเร็งปากมดลูกสายพันธุ์ใหม่ หลังพบหญิงไทยติดเชื้อนี้มากสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผิดคาด! รพ.จุฬาภรณ์เฝ้าระวังมะเร็งปากมดลูกแนวใหม่ พบหญิงไทยติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 52 มากสุด ยังไร้วัคซีนป้องกัน แต่โอกาสพัฒนาเป็นมะเร็งน้อยเพียง 6.6% ตรงข้ามต่างประเทศที่เป็นสายพันธุ์ 16 เตรียมศึกษากลุ่มใหญ่ขึ้นเพื่อยืนยันผล ก่อนเสนอเพิ่มวัคซีนสายพันธุ์ 52 ขณะที่สาเหตุการติดเชื้อเกิดจากพฤติกรรมสำส่อน

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา รองประธานบริการ รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวในการแถลงข่าวเรื่อง “สรุปผลการดำเนินงานโครงการบำเพ็ญพระกุศล โครงการป้องกันและเฝ้าระวังมะเร็งปากมดลูกแนวใหม่” เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ว่า โครงการนี้ไม่เพียงเป็นการป้องกันและเฝ้าระวังมะเร็งปากมดลูกเท่านั้น ยังมุ่งหวังให้ความรู้ ความเข้าใจ และคำแนะนำที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อนำความรู้ไปใช้ในการดูแลตนเองด้วย

ศ.นพ.พิทยภูมิ ภัทรนุธาพร ผอ.รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.2554 โดยรับสตรีไทยจากทั่วประเทศอายุระหว่าง 20-70 ปีเข้าร่วมประมาณ 5,000 ราย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ยังเป็นเพียงการตรวจให้กับผู้ที่เข้ามารับบริการที่โรงพยาบาล อนาคตจะขยายโครงการเข้าไปให้บริการกับประชาชนในชุมชนด้วย โดยเริ่มจากประชาชนใน จ.ปทุมธานี ให้บริการที่พระตำหนักจักรีบงกช และจะไปในภูมิภาคที่ จ.ร้อยเอ็ด ด้วย
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติ-นรีเวชวิทยา ด้านมะเร็งนรีเวช รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า โครงการนี้มีสตรีไทยเข้าร่วมทั้งสิ้น 4,487 ราย แต่ไม่เข้าเกณฑ์ 63 ราย เพราะไม่มีปากมดลูก เนื่องจากอาจจะเคยเป็นมะเร็งปากมดลูกมาแล้ว ทั้งนี้ ได้ทำการตรวจภายใน เปปสเมียร์ สายพันธุ์ไวรัส ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลว่าเกือบ 100% มะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งผลการดำเนินโครงการพบว่า มีการติดเชื้อเอชพีวีทั้งหมด 692 ราย คิดเป็น 15.4% ติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ความเสี่ยงสูง จำนวน 322 ราย หรือ 7.2% ติดเชื้อเอชพีวีความเสี่ยงปานกลาง 72 ราย คิดเป็น 1.6% และติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ความเสี่ยงต่ำ จำนวน 433 ราย คิดเป็น 9.7% โดยผู้ที่ติดเชื้อ 1 รายอาจจะติดเชื้อหลายสายพันธุ์ และพบเป็นมะเร็งปากมดลูกในระยะที่ 1 จำนวน 4 ราย

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ที่สำคัญมีการพบข้อมูลที่น่าสนใจคือ กลุ่มติดเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ความเสี่ยงสูง เป็นสายพันธุ์ 52 มากที่สุดถึง 76 ราย รองลงมาเป็นสายพันธุ์ 16 จำนวน 62 ราย ซึ่งต่างจากต่างประเทศที่พบสายพันธุ์ 16 มากที่สุด อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ยังเป็นการศึกษาเฉพาะกลุ่มที่มาตรวจในโรงพยาบาลเท่านั้น ต้องมีการศึกษาในวงกว้างระดับชุมชนเพิ่มขึ้นเพื่อยืนยันผล ก่อนจะนำข้อมูลไปเสนอเพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้เพิ่มการป้องกันในสายพันธุ์ 52 ด้วย เพราะพบบ่อยในประเทศภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากปัจจุบันวัคซีนครอบคลุมการป้องกันสายพันธุ์ 16, 18, 45 และ 31 เป็นหลัก เพราะมีความรุนแรงและเป็นสายพันธุ์ที่พบมากในประเทศตะวันตก

นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า การตรวจคัดกรองนี้ยังตรวจพบผู้ที่มีรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก จำนวน 237 ราย ในจำนวนนี้เป็นรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งขั้นสูง 53 ราย พบเชื้อเอชพีวี 49 ราย หรือ 90% แยกเป็น สายพันธุ์ 16 จำนวน 20 ราย หรือ 41% สายพันธุ์ 18 จำนวน 2 ราย คิดเป็น 4% สายพันธุ์ 52 จำนวน 5 ราย หรือ 10% นอกจากนี้ ในส่วนความรุนแรงของเชื้อแต่ละสายพันธุ์ พบว่า ผู้ที่ตรวจพบเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 จำนวน 62 ราย พบรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งขั้นสูงจำนวน 20 ราย หรือ 32% ติดเชื้อสายพันธุ์ 18 จำนวน 27 ราย พบรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งขั้นสูง 2 ราย คิดเป็น 7.4% ขณะที่ติดเชื้อสายพันธุ์ 52 จำนวน 76 ราย มีรอยโรคก่อนเป็นมะเร็งขั้นสูง 5 ราย หรือ 6.6 %

แม้สายพันธุ์ที่พบการติดเชื้อมากที่สุดจะเป็นสายพันธุ์ 52 แต่ไม่ใช่สายพันธุ์ที่รุนแรง โอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกราว 6.6% ขณะที่สายพันธุ์ 16 ซึ่งพบจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่าแต่มีความรุนแรงที่สุด เพราะมีโอกาสเป็นมะเร็งมดลูกถึง 32% ส่วนสายพันธุ์ 18 โอกาสเป็นราว 7.4% และจากการตรวจชิ้นเนื้อของผู้ที่เป็นมะเร็งปากมดลูกยังเป็นเชื้อสายพันธู์ 16 และ 18 เป็นหลัก ” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

นางจันทนี แต้ไพสิฐพงษ์ พยาบาลวิชาชีพ รพ.จุฬาภรณ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการดังกล่าวมีการศึกษาวิจัยพฤติกรรมทางเพศกับการติดเชื้อไวรัสมะเร็งปากมดลูกด้วย โดยพบว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เนื่องจากผู้หญิงไทยไม่ค่อยไปตรวจคัดกรองมะเร็ง เพราะเห็นว่าไม่มีอาการจึงไม่ไปตรวจ ขณะที่บางคนเข้าใจผิดว่าต้องรอให้มีลูกก่อน บางส่วนเชื่ออย่างผิดๆว่า โรคนี้มาจากกรรมพันธุ์ ทั้งยังไม่รู้จักไวรัสเอชพีวี รวมถึงสาเหตุของการเกิดโรคนี้ บางส่วนเข้าใจว่าใช้ถุงยางอนามัยและน้ำยาฆ่าเชื้อสวนล้างช่องคลอดสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ซึ่งความจริงแล้วไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ เพราะน้ำยาส่วนใหญ่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ บางกลุ่มไม่มีเวลาไปตรวจเพราะติดงานประจำ อีกทั้ง จากการศึกษาพบว่าสาเหตุของการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ส่วนใหญ่จะมาจากการที่ผู้หญิงเคยมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนมากกว่า 1 คนหรือการที่คู่นอนของผู้หญิงไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่น จะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงในการติดเอชไวรัสเอชพีวีมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น