xs
xsm
sm
md
lg

ไม่สำส่อน ไม่เสี่ยง “มะเร็งปากมดลูก” / คอลัมน์ Health Line สายตรงสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข้อมูลเชิงสถิติที่น่าตกใจสำหรับผู้หญิงไทย ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูก สูงเป็นอันดับสอง ขณะที่องค์การอนามัยโลก ชี้ว่า ไทยมาเป็นอันดับหนึ่งในกลุ่มนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบุ สถานการณ์มะเร็งปากมดลูกในเมืองไทย อยู่ที่ 20.9 คน ต่อแสน ต่อปี มากที่สุด คือ ทางภาคเหนือ อัตราการเสียชีวิตสูงมาก

ศ.กิตติคุณ พญ.คุณหญิง กอบจิตต์ ลิมปพยอม ภาควิชาศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงสาเหตุแห่งการก่อเกิดโรคมะเร็งชนิดนี้ในสุภาพสตรี ว่า มีต้นตอมาจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า เอชพีวี (HPV : Human Papillomavius) ซึ่งไวรัสตัวนี้จะเข้าไปติดอยู่ที่เซลล์บริเวณปากมดลูก และที่ปากมดลูกของผู้หญิง จะมีเซลล์เป็นชั้นๆ ตัวไวรัส ก็จะเข้าไปทำลายเซลล์เหล่านั้น แล้วค่อยๆ เปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ จากหนึ่งไปจนถึงระยะที่สี่ อาการที่พบเห็นโดยทั่วไป ก็คือ เลือดออกกะปริดกะปรอย ที่สำคัญคือ ไม่มีอาการ ไม่เจ็บไม่ปวด แต่มีเลือดออก กลิ่นจะมาทีหลังในระยะสุดท้าย

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ก็คือ การมีเพศสัมพันธ์ที่ส่ำส่อน เปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อยๆ อันที่จริง การมีเพศสัมพันธ์มันสามารถติดเชื้อไวรัสได้เป็นร้อยๆ ตัว แต่ตัวที่สำคัญ มีแค่เพียงสี่ตัว คือ เชื้อไวรัสเอชพีวี เบอร์ 16 เบอร์ 18 เบอร์ 11 และเบอร์ 9 คือ เบอร์ 16 กับ 18 นั้นรุนแรงกว่าตัวอื่นๆ

ศ.กิตติคุณ พญ.คุณหญิง กอบจิตต์ ยังบอกอีกว่า แม้จะสวมถุงยางอนามัยก็ป้องกันไวรัสตัวนี้ไมได้ เนื่อจากเชื้อเอชพีวี ไม่ได้อยู่เฉพาะแค่ในน้ำอสุจิ หากแต่อยู่ที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ทั้งหมด ไม่มีทางเห็นด้วยตา เพราะฉะนั้น ถุงยางอนามัยไม่ป้องกัน

แต่ในวิถีของคนทั่วไป การจะห้ามไม่ให้มีเพศสัมพันธ์คงเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ดี นอกจากการไม่สำส่อนทางเพศแล้ว การฉีดวัคซีนก็เป็นวิธีป้องกันได้อย่างหนึ่ง “แต่วัคซีนนั้นต้องฉีดให้เฉพาะบุคคลที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนเลย ตามตำรา ต้องให้ในช่วง 9-15 ปี ป้องกันได้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ฉีดแล้วจะไปสำส่อนได้” พญ.คุณหญิง กอบจิตต์ ว่า

กระนั้นก็ตาม โรคนี้ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีการตรวจป้องกันและรักษาก่อนโรคจะลุกลามบานปลาย

ระยะที่หนึ่งและสอง มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเท่านั้น แล้วค่อยๆ เปลี่ยนไปอีกสองชั้นสามชั้น อันนี้จึงเป็นเหตุผลว่า ถ้าเราพบแต่เนิ่นๆ เราก็สามารถป้องกันและรักษาได้ หายเลย ไม่ใช่ว่าหายแล้วต้องมาเป็นอีก โดยปกติ เราจะแบ่งช่วงเป็นสี่ระยะ บางที ต่อให้เป็นระยะที่สามแล้วก็ยังรักษาหาย

ทุกวันนี้ มีการตรวจคัดกรองเพื่อรักษามะเร็ง ที่มีชื่อว่า แพพ ซเมียร์ (Pap Smear) ซึ่งโดยหลักการใช้ตรวจกับกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีอายุตั้งแต่ 30-45 ปี แต่อีกวิธีหนึ่งซึ่ง พญ.คุณหญิง กอบจิตต์ แนะนำก็คือ การตรวจมดลูกด้วยตาเปล่า และใช้น้ำส้มสายชูป้าย มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า VIA ซึ่งเป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยใช้การตรวจภายในและน้ำส้มสายชู สามารถทำได้โดยพยาบาลที่ผ่านการอบรม ทราบผลทันที และมีคุณภาพทัดเทียมกับ หรือดีว่าการตรวจแบบ Pap Smear

ดังนั้น คุณผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ว่ามา อย่าได้ลังเลใจเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องน่าอาย มะเร็งปากมดลูกรักษาได้ หากรู้ตั้งแต่เนิ่นๆ

ล้อมกรอบ
ขอบคุณข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 7.00-8.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี
กำลังโหลดความคิดเห็น