xs
xsm
sm
md
lg

หมอสูติฯ แนะรัฐต่อราคาวัคซีนมะเร็งปากมดลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
หมอสูติฯ ชี้ การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก คุ้มทุนหรือไม่ ขึ้นกับการต่อรองราคาวัคซีนของรัฐบาล เผย หากได้ราคาเข็มละ 400 บาท ฉีดให้กับเด็กหญิงวัยประถมศึกษา ที่มี 3 แสนคน คนละ 3 เข็ม ตกค่าใช้จ่ายคนละ 1,200 บาท ย้ำช่วยลดการตรวจคัดกรองเหลือ 5 ครั้งตลอดชีวิต แนะคนที่ไม่ได้รับวัคซีนควรตรวจภายในปีละ 2 ครั้ง

วันนี้ (27 ส.ค.) ศ.นพ.สมบูรณ์ คุณาธิคม ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวในการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ครั้งที่ 1/2555 ว่า โรคมะเร็งปากลูก เกิดเชื้อเอชพีวี ที่มีถึง 15 สายพันธุ์ แต่พบอัตราการป่วยมากใน 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ที่ 16 และ 18 ถึงร้อยละ 70 ซึ่งการให้วัคซีนจะกระทำในหญิงก่อนมีเพศสัมพันธ์ อายุ 12 ปี หรือเด็กหญิงวัยประถมศึกษา ส่งผลให้ในระยะยาวกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตลอดชีวิต เพียง 5 ครั้งเท่านั้น

ศ.นพ.สมบูรณ์ กล่าวว่า ในแต่ละปี จะมีผู้หญิงป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ 10,000 คน เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตกคนละ 50,000 บาท ทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณในการรักษาตกปีละ 500 ล้านบาท ขณะที่ความคุ้มค่าของวัคซีนนั้น ต้องมีการเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และค่าวัคซีน ซึ่งในปัจจุบันราคาวัคซีนอยู่ที่เข็มละ 2,000 บาท ฉีด 3 ครั้ง รวมคนละ 6,000 บาท จากการศึกษาข้อมูลพบว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีเด็กวัยประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 รวม 670,000 คน เป็นนักเรียนหญิง 340,000 คน หากมีการให้วัคซีน ก็จะมีค่าใช้จ่ายถึง 2,040 ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าค่ารักษาพยาบาลที่รวม เพียง 500 ล้านบาทเท่านั้น

ศ.นพ.สมบูรณ์ กล่าวว่า การจะวัดว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ ต้องดูว่ารัฐบาลสามารถต่อรองราคาวัคซีนได้มากน้อยหรือไม่ เนื่องจากในประเทศมาเลเซียสามารถต่อรองได้เหลือเพียงเข็มละ 510 บาท ซึ่งประเทศไทยมีประชากรมากกว่านั้น ก็น่าจะสามารถต่อรองราคาได้มากกว่านั้น ซึ่งหากสามารถต่อรองราคาได้เหลือเพียงเข็มละ 400 บาท เพื่อฉีดให้กับเด็กประถมศึกษาคนละ 3 เข็มก็ตกค่าใช้จ่ายคนละ 1,200 บาทเท่านั้น ซึ่งการป้องกันได้ร้อยละ 70 สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนจะเห็นได้หลังจากมีเพศสัมพันธ์ภายใน 5 ปี เซลล์ปกติจะมีการเปลี่ยนแปลง และ 15-20 ปี มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์

สำหรับการรับวัคซีนมะเร็งปากมดลูกจะมีการฉีดให้กับเด็กอายุ 11-12 ปี ส่วนใหญ่อยุ่ในวัยประถมศึกษา และจะฉีด 3 ครั้งด้วยกัน โดยเข็มที่ 2 จะฉีดห่างจากเข็มแรก 2 เดือน และเข็มที่ 3 ฉีดหลังจากนั้นอีก 6 เดือน ทางราชวิทยาลัยสูตินรีแห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำการตรวจภายใน 2 ปีครั้ง

นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค (คร.) ในฐานะกรรมการคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กล่าวภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการฯครั้งที่ 1/2555 ที่กรมควบคุมโรค ว่า คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้มีการพิจารณาเรื่องความเหมาะสมในการนำวัคซีนเอชพีวี (HPV) มาใช้เพื่อป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบที่จะนำวัคซีนดังกล่าวมาใช้กับประชาชนในวงกว้าง โดยได้มอบหมายให้ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดหาคณะทำงานศึกษาถึงแนวทางปฏิบัติในการใช้วัคซีน ทั้งเรื่องการพิจารณากลุ่มอายุที่เริ่มรับบริการ ครอบคลุมจำนวนเท่าใด รวมทั้งเรื่องความเหมาะสมของราคา โดยในเรื่องราคาต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงความคุ้มค่าจริงๆ โดยทั้งหมดจะเสนอให้ทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) รับทราบ และนำไปหารือกับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ทำหน้าที่ต่อรองราคาต่อไป คาดว่าแผนการดำเนินการจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2556

ผู้สื่อข่าวถามว่า เบื้องต้นมีการศึกษาว่าจะให้บริการฉีดวัคซีนครอบคลุมทั้งประเทศ หรือบางพื้นที่ นพ.ศุภมิตร กล่าวว่า เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวมีราคาแพง ซึ่งจำเป็นต้องมีการต่อรองราคา โดยนอกจากจะศึกษากลุ่มอายุที่ต้องได้รับวัคซีนแล้ว ยังต้องศึกษาว่าจะให้บริการฉีดในพื้นที่ใดก่อนหรือไม่ เพื่อเป็นการนำร่องด้วย

วันเดียวกัน ที่กรมควบคุมโรค (คร.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดี คร. เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ไม่ได้พิจารณาเรื่องวัคซีนเอชพีวี แต่พิจารณาถึงแนวทางการให้วัคซีนแก่ผู้ใหญ่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เนื่องจากปัจจุบันผู้ใหญ่บางกลุ่มมีปัญหาในโรคบางชนิด ซึ่งจำเป็นต้องมีวัคซีน ทั้งนี้ นพ.ศุภมิตร กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานจัดทำแนวทางการให้วัคซีนแก่ผู้ใหญ่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เนื่องจากในผู้ใหญ่บางกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคบางชนิด เพราะจากการทำงาน อาทิ บุคลากรบางอาชีพ อย่างทหาร อาจเสี่ยงได้รับการบาดเจ็บง่าย ซึ่งขณะนี้ไม่มีข้อกำหนดควรฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก จึงจะมีการพิจารณาตรงนี้

“นอกจากนี้ ในบุคลากรสาธารณสุข ณ ปัจจุบัน บางกลุ่มได้รับวัคซีนตับอักเสบบี แต่บางกลุ่มไม่ได้รับ ซึ่งมีราวแสนคน ตรงนี้ก็จะมีการพิจารณาด้วย และรวมถึงวัคซีนรวม MMR คือ หัด หัดเยอรมัน และคางทูม แต่ทั้งหมดก็ยังไม่ชัดเจน ต้องให้คณะทำงานศึกษาเรื่องนี้พิจารณา และส่งเข้าคณะกรรมการวัคซีนอีกครั้ง” นพ.ศุภมิตร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น