ปลัด สธ.เตือนผู้ปกครองระวังอันตรายจากปัญหา “ฟันผุ-โรคมือเท้าปาก” ในเด็กเล็ก ชี้ เด็กฟันผุควรรีบพบแพทย์ เหตุปล่อยไว้นานเชื้อโรคในฟันผุอาจลุกลามสู่ลิ้นหัวใจและปอด มีสิทธิถึงตาย ส่วนโรคมือเท้าปากทำให้เด็กขาดสารอาหาร พัฒนาการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ย้ำดูแลสุขอนามัยเด็ก ล้างมือ และทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้บ่อยๆ
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ช่วงต้นปีมีทั้งเทศกาลปีใหม่ วันเด็ก และวันวาเลนไทน์ ประชาชนนิยมส่งความปรารถนาดีให้กันด้วยขนมกรุบกรอบหรือขนมหวาน ทำให้เด็กๆ มีขนมหรือลูกอมเก็บไว้กินเป็นเวลานาน ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสฟันผุตามมา แต่ผู้ปกครองบางคนอาจคิดว่าเป็นแค่เรื่องเล็กๆ ทั้งที่การมีฟันผุเพียง 1 ซี่ จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ คือ ปวดฟัน มีกลิ่นปาก หงุดหงิดไม่มีสมาธิในการเรียน หรือทำกิจกรรมใดๆ และหากฟันผุจนถึงประสาทฟันจะทำให้ปวดฟันมากจนรับประทานอาหารไม่ได้ ร่างกายจะขาดสารอาหาร หากฟันผุจนเป็นหนองในช่องปากหรือรากฟัน ก็จะทำให้ฟันแท้ที่จะขึ้นมาไม่แข็งแรง โดยผลสำรวจล่าสุดพบว่าในเด็กเล็กอายุ 3 ปีมีปัญหาฟันน้ำนมผุร้อยละ 60 ส่วนเด็กอายุ 5 ปีมีปัญหาร้อยละ 80
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ หากเชื้อโรคจากหนองที่อยู่ในฟันผุเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางเส้นเลือดฝอยในโพรงประสาทฟัน เชื้อจะสามารถแพร่กระจายไปได้ทั่วร่างกาย ทำให้ติดเชื้อที่อวัยวะอื่นๆ ซึ่งที่พบบ่อยที่สุด คือ การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ เป็นฝีในปอด หากไม่ได้รับการรักษาหรือมาพบแพทย์ล่าช้า อาจมีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังอาจทำให้เด็กป่วยบ่อยจากไซนัสอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ดังนั้น ปัญหาฟันผุจึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ การป้องกันที่ดีที่สุด คือ รักษาความสะอาดปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ แปรงฟันด้วยยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์วันละ 2 ครั้ง คือ ทุกเช้าและก่อนเข้านอน หรือทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร ดูแลให้เด็กๆ กินอาหารเป็นมื้อๆไม่กินจุบจิบ ไม่กินลูกอมหรือขนมหวาน ให้กินผลไม้แทนขนม และหากเป็นเด็กโตก็สามารถใช้ไหมขัดฟันหลังอาหารเหมือนผู้ใหญ่ได้” ปลัด สธ.กล่าว
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงในกลุ่มเด็ก คือ โรคมือเท้าปาก แม้ปัจจุบันจะควบคุมการระบาดได้แล้ว แต่ยังเป็นโรคที่ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโรคมือเท้าปากเป็นปัญหาของหลายประเทศในอาเซียน ซึ่งในปี 2555 สำนักระบาดวิทยารายงานว่า ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคมือเท้าปากจำนวน 31,378 ราย เสียชีวิต 2 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร้อยละ 87 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และเชื้อของโรคมือเท้าปาก เป็นไวรัสที่อยู่ในลำไส้ แพร่ติดต่อคนอื่นทางอุจจาระ เข้าสู่ร่างกายโดยติดไปกับมือและหยิบจับอาหารหรือน้ำดื่ม และมีความเสี่ยงเกิดการระบาดตลอดเวลา หากเชื้ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างเย็นหรือชื้นจะสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นเดือน โดยเฉพาะในพื้นที่ประสบภัยแล้งหลายจังหวัด ที่มีน้ำใช้จำกัด ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ร่วมมือกับโรงเรียน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฝ้าระวังดูแลความสะอาดโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงได้แก่ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล
ด้าน นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยากล่าวว่า เด็กที่ติดเชื้อโรคมือเท้าปาก จะมีไข้ 1-2 วัน จากนั้นจะมีตุ่มหรือแผลในปากคล้ายแผลร้อนใน อาจมีหลายแผล ส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณคอหอยหรือใกล้ต่อมทอนซิล หากอาการรุนแรงจะลามมาที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม ทำให้เด็กเจ็บในปากและคอ ไม่ยอมดูดนม ไม่กินอาหาร ในรายที่มีอาการรุนแรงจะพบว่ามีไข้สูง และอาจมีอาการชัก แขนขาอ่อนแรง ไม่รู้สึกตัวได้ การรักษาโรคมือเท้าปากในขณะนี้ยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะรักษาตามอาการเช่น หากมีไข้ก็ให้ยาลดไข้และเช็ดตัวบ่อยๆด้วยน้ำธรรมดา นอนพักมากๆ รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้ม กรณีสงสัยว่าอาจมีอาการรุนแรง ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
นพ.ภาสกร กล่าวอีกว่า เชื้อไวรัสที่ก่อโรคมือเท้าปากจะถูกขับออกมาจากผู้ป่วยทางลำไส้ โดยการถ่ายอุจจาระ อาเจียน หรือ น้ำลาย วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ห่างไกลโรคนี้ได้ คือ รักษาสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ ผู้ดูแลเด็ก ผู้ประกอบอาหารและเด็กๆ ทุกคน ต้องล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งหลังเข้าห้องส้วม และก่อนเตรียมอาหาร หรือก่อนรับประทานอาหารทุกชนิด รวมทั้งเมื่อสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็ก หมั่นตรวจดูแผลในช่องปากของลูกหลาน หากมีแผลหรือตุ่มให้รีบไปพบแพทย์ หากมีเด็กป่วยให้แยกเด็กออกจากกลุ่มเด็กปกติ และแยกของใช้ส่วนตัวเช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม หลอดดูด ทำความสะอาดพื้นห้องหรือพื้นที่อื่นๆที่เด็กสัมผัสบ่อยๆด้วยน้ำผสมผงซักฟอก แล้วตามด้วยน้ำผสมน้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอรีน เช่น ไฮเตอร์ แล้วล้างซ้ำด้วยน้ำสะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง