“ธีระชน” ชี้ ดีเอสไอไม่มีสิทธิ์พิพากษาคดียกเลิกจ้างบีทีเอส ระบุ ยกเลิกไม่ง่ายเหมือนแบนละครเหนือเมฆ 2 เผย พร้อมไปรับทราบข้อกล่าวหา 9 ม.ค.นี้
วันนี้ (7 ม.ค.) นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า วันนี้ตนเองได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินให้เร่งรัดตรวจสอบ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบคดีบีทีเอส ทั้งกรณีที่ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณายกเลิกสัญญาจ้างเดินรถระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) ระหว่างบริษัท กรุงเทพธนาคม (เคที) จำกัด กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 200 ซึ่งดีเอสไอเป็นเพียงพนักงานสอบสวน ไม่ใช่ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิพากษาเรื่องนี้ โดยการยกเลิกสัญญาฯ ไม่ง่ายเหมือนระงับละครเหนือเมฆ 2 ซึ่งที่ผ่านมาการกล่าวหาของดีเอสไอไม่เคยมีการเชิญกทม. เคที หรือบีทีเอสเข้าไปให้ปากคำก่อนที่จะมีการกล่าวหาเลย ซึ่งถือเป็นการกล่าวหาที่ขาดจริยธรรม ซึ่งที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้แจ้งว่าขอข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ก็มีการเลื่อนการส่งข้อมูลมาถึง 1 เดือน การเข้าพบในวันนี้จึงอยากให้เร่งดำเนินการโดยเร็ว
นายธีระชน กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ดีเอสไอ ระบุว่า มีหลักฐานว่า กทม.เคยทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการขออนุมัติทำสัญญาว่าจ้างบีทีเอสเดินรถในส่วนต่อขยายสายสีลม เส้นทางสะพานตากสิน-บางหว้า ซึ่งหมายถึง กทม.เห็นว่า การขออนุมัติว่าจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ตนเองขอปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นการทำหนังสือเพื่อขออนุมัติเรื่องดังกล่าว แต่เป็นการทำหนังสือ ถึง มท.เพื่อซื้อคืนและขออำนาจในการบริหาร หากมีการก่อสร้างระบบโครงสร้างรถไฟฟ้าบีเอสส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่ และเส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีในปี 2553 นั้น ได้มอบหมายให้หน่วยงานอื่นเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างหลักแทน กทม.ในช่วงที่ กทม.อยู่ระหว่างการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ กทม.จึงทำหนังสือเพื่อขอทวงทรัพย์สินคืนเท่านั้น
นายธีระชน กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่ดีเอสไอได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีจ้างเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้ว 9 ราย ซึ่งในส่วนที่ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา คือ นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ อดีตปลัด กทม.และ นายธนา วิชัยสาร ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.และตนเองจะเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาจากดีเอสไอในวันที่ 9 ม.ค.นี้