xs
xsm
sm
md
lg

คาดปีหน้ายอดผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นหลังพบตายต่อเนื่อง 70 ราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรมควบคุมโรคคาดการณ์ปี 2556 ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มสูงขึ้น หลังพบข้อมูลจากปี 54 ถึง 55 ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดผู้ป่วยเกือบ 7 หมื่นราย เสียชีวิต 70 รายแล้ว

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวถึงสภาพอากาศในช่วงนี้ที่ยังคงมีความแปรปรวน แม้จะอยู่ในฤดูหนาวก็ตาม หลายพื้นก็มีอุณหภูมิลดลง อากาศหนาวเย็นต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนเสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกันในหลายพื้นที่ก็ยังคงมีฝนตกประปราย ทำให้เกิดแอ่งน้ำขังหรือมีน้ำขังอยู่ตามเศษวัสดุ เศษภาชนะต่างๆ จานรองกระถางต้นไม้ และกาบใบไม้ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีของยุงลาย อาจทำให้ประชาชนป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เร่งควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้ได้กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศให้เร่งรัดมาตรการปราบยุงลาย 5 ป. ได้แก่ ปิดฝาตุ่มน้ำ เปลี่ยนน้ำในภาชนะทุก 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมและปฏิบัติเป็นประจำ จึงขอความร่วมมือภาคีเครือข่ายสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน อาสาสมัครสาธารณสุขและประชาชน ช่วยกันดำเนินการอย่างถูกวิธีและพร้อมเพรียงกัน
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง เพราะในพื้นที่ที่มีฝนตก ก็จะเกิดแอ่งน้ำขังหรือน้ำขังตามภาชนะต่างๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงได้ โดยทั่วไปยุงลายจะวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง ซึ่งเป็นน้ำนิ่ง ใส และสะอาด ซึ่งน้ำฝนมักเป็นน้ำที่ยุงลายชอบวางไข่มากที่สุด จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-4 ธันวาคม 2555) พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม จำนวน 67,072 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 105.00 ต่อประชากรแสนคน และมีผู้เสียชีวิต 70 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ณ ช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 7.07 ส่วนตลอดทั้งปี 2554 ที่ผ่านมาทั่วประเทศมีผู้ป่วย จำนวน 65,971 ราย เสียชีวิต จำนวน 59 ราย และคาดการณ์ว่าในปี 2556 จะมีจำนวนผู้ป่วยทั้งปีเพิ่มสูงขึ้น ประมาณ 90,000-100,000 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่น่าจะอยู่ในกลุ่มอายุ 10-14 ปี และ 15-24 ปีตามลำดับ แต่อาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มของผู้ใหญ่ ส่วนพื้นที่การระบาดจะพบในชุมชนใหม่นอกเขตเทศบาลที่อยู่ใกล้ชุมชนเมืองมากขึ้น จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในพื้นที่เขตเมืองมากกว่าเขตชนบทนอกเขตเทศบาล และแนวโน้มนี้น่าจะต่อเนื่องถึงปีหน้าด้วย

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรคมีมาตรการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้เลือดออกที่อาจจะเกิดขึ้น โดยจัดทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทุกเขต และกรุงเทพมหานคร เพื่อเน้นมาตรการป้องกันและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง เพราะจากข้อมูลผู้ป่วยปลายปีมีจำนวนเพิ่มขึ้น อาจจะส่งผลให้ปีถัดไปเกิดการระบาดมากขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทุกเขต เตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เตรียมพร้อมเข้าไปร่วมดำเนินการกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและหน่วยงานในท้องถิ่น กรณีเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก และพร้อมสนับสนุนการดำเนินการทุกด้าน เช่น ทีมสอบสวนโรค ทีมปฏิบัติการพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัย ทรายกำจัดลูกน้ำ ยาทากันยุง และสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดยุงลายเพื่อลดปริมาณยุงลายให้มากที่สุด

สำหรับในกลุ่มเด็กเล็กผู้ปกครองต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเด็กยังไม่สามารถบอกอาการของตัวเองได้ ผู้ปกครองควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากบุตรหลานของท่านป่วยมีไข้มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป เมื่อเช็ดตัวและกินยาลดไข้แล้วไข้ยังลอยไม่ลดนาน 2-3 วัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของไข้เลือดออก ไม่ต้องรอให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนัง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจ ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อกและเสียชีวิต ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ ไข้เลือดออกมักจะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากการเป็นไข้หวัด เว้นแต่จะเป็นทั้งสองชนิดในเวลาเดียวกัน อาจจะมีอาการทั้งไอและมีน้ำมูกร่วมด้วย และหากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 แต่ผู้ป่วยซึมลง กินหรือดื่มไม่ได้ให้รีบกลับมาพบแพทย์เพื่อรักษาให้ทันท่วงที

“นอกจากจะดำเนินการปราบยุง และดูแลกลุ่มเด็กเล็กเป็นพิเศษแล้ว จำเป็นต้องระมัดระวังไม่ให้ยุงกัดโดยวิธีต่างๆ เช่น ทาโลชั่นป้องกันยุง นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มืดๆ หรือที่มียุงมาก เป็นต้น หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0-2590-3333” นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น