xs
xsm
sm
md
lg

“ยุงลาย” ดื้อสารเคมีฉีดพ่น แนะกำจัดด้วยวิธีง่ายๆ ใช้ของใกล้ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยุงลายมีแนวโน้มดื้อต่อสารเคมีฉีดพ่นเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ แนะประชาชนกำจัดลูกน้ำและยุงลายด้วยวิธีง่ายๆ โดยใช้ของใกล้ตัวที่มีอยู่ในบ้าน ได้แก่ น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก หรือแชมพู ซึ่งมีสารลดแรงตึงผิวที่สามารถทำลายระบบการหายใจและทำให้ยุงตายภายใน 10-20 วินาที

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากยุงลายเป็นพาหนะของโรค ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในเขตร้อนชื้น จากการรวบรวมข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่า ในแต่ละปีมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วโลกประมาณ 500,000 คน โดยมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตประมาณ 22,000 คน ทั้งนี้แต่เดิมผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี แต่ปัจจุบันการแพร่ระบาดได้พบผู้ป่วยในวัยผู้ใหญ่มากขึ้น สำหรับประเทศไทยขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่ยุงแพร่พันธุ์มาก ทำให้การระบาดของโรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี โดยการระบาดมีหลายลักษณะ เช่น ระบาดปีเว้นปี ปีเว้น 2 ปี หรือระบาดติดต่อกัน 2 ปี แล้วเว้น 1 ปี แต่ในระยะหลังพบว่าการระบาดมีแนวโน้มระบาด 2 ปี เว้น 2 ปี

วิธีป้องกัน คือ ไม่ให้ยุงลายกัดและการกำจัดลูกน้ำยุงลายที่ส่วนราชการสนับสนุน โดยการใช้สารเคมีทีมีฟอส การพ่นหมอกควัน หรือพ่นฝอยละเอียดด้วยสารเคมีเพื่อกำจัดยุงตัวเต็มวัยในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค แต่การใช้สารเคมีติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้ยุงสร้างความต้านทานขึ้นมา ส่งผลให้เกิดปัญหาการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ในภายหลัง ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ศึกษาการดื้อต่อสารเคมีทีมีฟอสของลูกน้ำยุงลาย รวมทั้งการดื้อต่อสารเคมี ที่ใช้พ่นกำจัดตัวเต็มวัยที่มีการใช้ในปัจจุบัน เช่น สารเพอร์เมทริน (Permethrin) เดลต้าเมทริน (Deltamethrin) เฟนนิโตรไธออน (Fenitrothion) ซัยฟลูทริน (Cyfluthrin) และ มาลาไธออน (Malathion) ตามวิธีมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) จากจังหวัดที่เป็นพื้นที่การศึกษาตามภาคต่างๆ ของประเทศไทย รวม 25 จังหวัด ที่มีการระบาดของไข้เลือดออกสูง ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมีกำจัดแมลงสูง ผลการศึกษาพบลูกน้ำยุงลายใน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอ่างทอง ลพบุรี และอุทัยธานี มีการดื้อต่อสารเคมีทีมีฟอส อย่างไรก็ตาม ผลจากห้องปฏิบัติการใช้ทีมีฟอส ความเข้มข้น 0.02 มิลลิกรัมต่อลิตร (ppm) ที่ระบุโดยองค์การอนามัยโลก สำหรับทดสอบในห้องปฏิบัติการ หากสภาพการใช้งานจริง ขนาดของทีมีฟอสที่ใช้มีความเข้มข้น 1 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าขนาดที่ทดสอบถึง 50 เท่า นอกจากนี้ยังพบว่ายุงลายทุกพื้นที่การศึกษามีความต้านทานต่อสารเพอร์เมทริน ส่วนความไวต่อสารเคมีอื่นมีความแตกต่างกัน ในแต่ละพื้นที่

นพ.สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า การเฝ้าระวังการดื้อต่อสารเคมีกำจัดแมลงของยุงลาย เป็นเพียงมาตรการหนึ่งในการดำเนินการป้องกันโรคไข้เลือดออก ทั้งนี้วิธีที่ดีที่สุด คือ ประชาชนต้องเฝ้าระวังและป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัดและกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลาย โดยคว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง หรือนำเอาองค์ความรู้ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาวิธีการกำจัดลูกน้ำยุงลาย สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้ ใช้ผงซักฟอก 1 ช้อนโต๊ะต่อความจุภาชนะที่ขังน้ำขนาดเล็กประมาณ 2 ลิตร โดยโรยลงในจานรองกระถางต้นไม้ ที่รองขาตู้กับข้าว ยางรถยนต์ กะลา หรือถ้วยพลาสติก ซึ่งผงซักฟอกจะแพร่กระจายปกคลุมทั่วผิวน้ำ เมื่อลูกน้ำและตัวโม่งของยุงลาย ซึ่งจำเป็นต้องขึ้นมาหายใจจะดูดซับเอาสารเข้าสู่ระบบหายใจทำให้ระคายเคือง และค่อยๆ ตายในที่สุด

อีกวิธีคือ ใช้ผงซักฟอก แชมพู น้ำยาล้างจาน หรือสบู่เหลว 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 ลิตร ค่อยๆ คนอย่าให้เป็นฟอง จากนั้นนำไปใส่กระบอกฉีดพรมผ้า ฉีดตามมุมอับบริเวณที่เห็นกลุ่มยุงเกาะอยู่ เช่น ตามมุมในห้องน้ำ หรือมุมอับชื้นต่างๆ ที่ยุงชอบไปหลบเกาะ ก็จะฆ่ายุงได้เช่นกัน ทั้งนี้ เป็นเพราะส่วนลำตัวของยุงหรือแมลงที่เป็นปล้องๆ จะมีรูหายใจปล้องละ 1 คู่ สารลดแรงตึงผิวจะไปทำลายระบบการหายใจของแมลง ทำให้แมลงตายได้ โดยถ้าเป็นยุงหรือแมลงตัวเล็กจะตายใน 10-20 วินาที ทั้งนี้ผู้ที่สนใจวิธีการกำจัดยุงลายด้วยการใช้สารลดแรงตึงผิว กลุ่มสารซักล้าง

ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี หรือโทรศัพท์ 0 2951 0000 ต่อ 99236
กำลังโหลดความคิดเห็น