คร.เตือนหลังฝนตก น้ำขัง ระวังยุงลายแพร่โรคไข้เลือดออก ปีนี้ยอดป่วยเกือบ 4 หมื่นราย เสียชีวิตแล้ว 42 ราย สัปดาห์เดียวเสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย หากพบผู้ป่วยมีไข้สูง 2-3 วัน ปวดเมื่อยตามตัว ไม่ต้องรอให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนัง รีบไปพบแพทย์ทันที
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง เพราะหลังจากฝนตกก็จะเกิดแอ่งน้ำขัง หรือน้ำขังตามภาชนะต่างๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงได้ โดยทั่วไปยุงลายจะวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง ซึ่งเป็นน้ำนิ่ง ใส และสะอาด และน้ำฝนมักเป็นน้ำที่ยุงลายชอบวางไข่มากที่สุด จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-4 กันยายน 2555) พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม จำนวน 38,500 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 60.27 ต่อประชากรแสนคน และมีผู้เสียชีวิต 42 ราย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตเพิ่มถึง 5 ราย จากจังหวัดพิษณุโลก นครปฐม สมุทรปราการ สุรินทร์ และจังหวัดแพร่ จังหวัดละ 1 ราย เมื่อแยกเป็นรายภาคที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ภาคกลาง จำนวน 14,505 ราย รองลงมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10,990 ราย ภาคใต้ 6,761 ราย และภาคเหนือ 6,244 ราย ตามลำดับ แต่เมื่อคิดจากอัตราป่วย จะพบว่า ภาคใต้มีอัตราป่วยมากที่สุด คือ 76.03 ต่อประชากรแสนคน และตลอดปี 2554 ที่ผ่านมา ทั่วประเทศมีผู้ป่วย จำนวน 65,971 ราย เสียชีวิต จำนวน 59 ราย
นพ.พรเทพ กล่าวต่อไป สำหรับกลุ่มเด็กเล็กผู้ปกครองต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเด็กยังไม่สามารถบอกอาการของตัวเองได้ ผู้ปกครองควรใช้วิธีสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากบุตรหลานของท่านป่วยมีไข้มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป เมื่อเช็ดตัวและกินยาลดไข้แล้วไข้ยังลอยไม่ลดนาน 2-3 วัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของไข้เลือดออก ไม่ต้องรอให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนัง ให้รีบไปพบแพทย์เจาะเลือด ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อกและเสียชีวิต ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ ไข้เลือดออกมักจะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากการเป็นหวัด เว้นแต่จะเป็นไข้ทั้งสองชนิดในเวลาเดียวกัน อาจจะมีอาการทั้งไอและมีน้ำมูกด้วย และหากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 แต่ผู้ป่วยซึมลง กินหรือดื่มไม่ได้ให้รีบกลับมาพบแพทย์เพื่อรักษาให้ทันท่วงที
นพ.พรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สธ.ได้ออกมาตรการในการควบคุมโรคไข้เลือดออก 5 ด้าน ดังนี้ 1.การเฝ้าระวังควบคุมโรคในทันทีที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 2.ป้องกันไม่เกิดโรคซ้ำหรือเพิ่มมากขึ้น 3.การเข้าถึงบริการรักษาต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วเพื่อลดการป่วยตาย 4.การสื่อสารความเสี่ยงต้องชัดเจนและทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานให้ความสำคัญและเกิดความร่วมมือ 5.การร่วมมือกับภาครัฐส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งทั้ง 5 มาตรการดังกล่าวต้องอาศัยเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วน และประชาชนดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนการป่วยตายจากโรคไข้เลือดออกของประชาชนในพื้นที่
“นอกจากนี้ ได้กำชับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ลงพื้นที่เพื่อควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง และทำลายลูกน้ำยุงลายพ่นสารเคมีฆ่ายุงตัวแก่ภายในบ้านและรอบบ้านผู้ป่วย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนร่วมมือป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยเร่งรัดมาตรการปราบยุงลายพาหะของโรคด้วยวิธี 5 ป ได้แก่ ปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้สนิท เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ทุก 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้สะอาด ไม่รกรุงรัง และไม่ให้เป็นที่เกาะพักและเพาะยุงลาย สุดท้ายปฏิบัติตามมาตรการเป็นประจำต่อเนื่องทุก 7 วัน นอกจากจะดำเนินการปราบยุงแล้ว ต้องระวังไม่ให้ยุงกัด เช่น ทาโลชั่นป้องกันยุง นอนในมุ้ง หรือห้องมุ้งลวด หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มืดๆ หรือที่มียุงมาก หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง เพราะหลังจากฝนตกก็จะเกิดแอ่งน้ำขัง หรือน้ำขังตามภาชนะต่างๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงได้ โดยทั่วไปยุงลายจะวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง ซึ่งเป็นน้ำนิ่ง ใส และสะอาด และน้ำฝนมักเป็นน้ำที่ยุงลายชอบวางไข่มากที่สุด จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-4 กันยายน 2555) พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม จำนวน 38,500 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 60.27 ต่อประชากรแสนคน และมีผู้เสียชีวิต 42 ราย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตเพิ่มถึง 5 ราย จากจังหวัดพิษณุโลก นครปฐม สมุทรปราการ สุรินทร์ และจังหวัดแพร่ จังหวัดละ 1 ราย เมื่อแยกเป็นรายภาคที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ภาคกลาง จำนวน 14,505 ราย รองลงมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10,990 ราย ภาคใต้ 6,761 ราย และภาคเหนือ 6,244 ราย ตามลำดับ แต่เมื่อคิดจากอัตราป่วย จะพบว่า ภาคใต้มีอัตราป่วยมากที่สุด คือ 76.03 ต่อประชากรแสนคน และตลอดปี 2554 ที่ผ่านมา ทั่วประเทศมีผู้ป่วย จำนวน 65,971 ราย เสียชีวิต จำนวน 59 ราย
นพ.พรเทพ กล่าวต่อไป สำหรับกลุ่มเด็กเล็กผู้ปกครองต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเด็กยังไม่สามารถบอกอาการของตัวเองได้ ผู้ปกครองควรใช้วิธีสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากบุตรหลานของท่านป่วยมีไข้มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป เมื่อเช็ดตัวและกินยาลดไข้แล้วไข้ยังลอยไม่ลดนาน 2-3 วัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของไข้เลือดออก ไม่ต้องรอให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนัง ให้รีบไปพบแพทย์เจาะเลือด ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อกและเสียชีวิต ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ ไข้เลือดออกมักจะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากการเป็นหวัด เว้นแต่จะเป็นไข้ทั้งสองชนิดในเวลาเดียวกัน อาจจะมีอาการทั้งไอและมีน้ำมูกด้วย และหากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 แต่ผู้ป่วยซึมลง กินหรือดื่มไม่ได้ให้รีบกลับมาพบแพทย์เพื่อรักษาให้ทันท่วงที
นพ.พรเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สธ.ได้ออกมาตรการในการควบคุมโรคไข้เลือดออก 5 ด้าน ดังนี้ 1.การเฝ้าระวังควบคุมโรคในทันทีที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 2.ป้องกันไม่เกิดโรคซ้ำหรือเพิ่มมากขึ้น 3.การเข้าถึงบริการรักษาต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วเพื่อลดการป่วยตาย 4.การสื่อสารความเสี่ยงต้องชัดเจนและทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานให้ความสำคัญและเกิดความร่วมมือ 5.การร่วมมือกับภาครัฐส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งทั้ง 5 มาตรการดังกล่าวต้องอาศัยเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วน และประชาชนดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนการป่วยตายจากโรคไข้เลือดออกของประชาชนในพื้นที่
“นอกจากนี้ ได้กำชับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 เขตทั่วประเทศ ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ลงพื้นที่เพื่อควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง และทำลายลูกน้ำยุงลายพ่นสารเคมีฆ่ายุงตัวแก่ภายในบ้านและรอบบ้านผู้ป่วย ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนร่วมมือป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยเร่งรัดมาตรการปราบยุงลายพาหะของโรคด้วยวิธี 5 ป ได้แก่ ปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้สนิท เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ทุก 7 วัน ปล่อยปลากินลูกน้ำ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้สะอาด ไม่รกรุงรัง และไม่ให้เป็นที่เกาะพักและเพาะยุงลาย สุดท้ายปฏิบัติตามมาตรการเป็นประจำต่อเนื่องทุก 7 วัน นอกจากจะดำเนินการปราบยุงแล้ว ต้องระวังไม่ให้ยุงกัด เช่น ทาโลชั่นป้องกันยุง นอนในมุ้ง หรือห้องมุ้งลวด หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มืดๆ หรือที่มียุงมาก หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว