xs
xsm
sm
md
lg

“หมอพรเทพ” ชู 5 ป สู้ไข้เลือดออก ตัดวงจรลูกน้ำยุงลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอพรเทพ” ชูหลัก 5 ป สู้ไข้เลือดออก วอนทุกฝ่ายร่วมกันเก็บขยะ เก็บบ้าน ให้ปลอดโปร่ง เก็บน้ำให้มิดชิด ตัดวงจรแพร่พันธุ์ลูกน้ำยุงลาย แนะสังเกตอาการเด็ก ไข้สูง 3 วัน คลื่นไส้อาเจียน หน้าแดง เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตายร่างกาย ควรรีบไปพบแพทย์ ลั่น 2 ปี ไทยมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

วันนี้ (31 ก.ค.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตัวอย่างการป้องกันโรคไข้เลือดออก ที่ชุมชนบ้านสวน ถนนติวานนท์ ซอย 45 จ.นนทบุรี ว่า เดือนมิถุนายน และกรกฎาคม เป็นเดือนที่มีผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงกว่าเดือนอื่นๆ ของทุกปี จึงขอให้ประชาชนร่วมมือป้องกันโรคไข้เลือดออก เพื่อลดการป่วย และการตายของเด็ก ซึ่งอาจจะเป็นลูกหลานของพวกเรา โดยเร่งรัดมาตรการปราบยุงลายพาหะของโรคด้วยวิธี 5 ป ได้แก่ 1.ปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้สนิท 2.เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ทุก 7 วัน 3.ปล่อย ปลากินลูกน้ำ 4.ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้สะอาด ไม่รกรุงรังไม่ให้เป็นที่เพาะยุง และ 5.ปฏิบัติตามมาตรการเป็นประจำต่อเนื่องทุก 7 วัน นอกจากจะดำเนินการปราบยุงแล้ว ต้องระวังไม่ให้ยุงกัด เช่น ทาโลชั่นป้องกันยุง นอนในมุ้ง หรือห้องมุ้งลวด หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มืดๆ หรือที่มียุงมาก
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า หากบุตรหลานป่วยมีไข้มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ให้เช็ดตัวและกินยาลดไข้ หากไข้ยังไม่ลดนาน 2-3 วัน และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของไข้เลือดออก ไม่ต้องรอให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนัง ควรรีบไปพบแพทย์เจาะเลือด ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อก และเสียชีวิต ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ ไข้เลือดออกมักจะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากการเป็นหวัด เว้นแต่จะเป็นไข้ทั้งสองชนิดในเวลาเดียวกัน อาจจะมีอาการทั้งไอและมีน้ำมูกด้วย และหากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงที่ไข้ลดลงในวันวันที่ 3-4 แต่ผู้ป่วยมีอาการซึมลง ดื่ม กินไม่ได้ ให้รีบกลับมาพบแพทย์เพื่อรักษาให้ทันท่วงที

“สธ.ได้ออกมาตรการในการควบคุมโรคไข้เลือดออก 5 ด้าน ดังนี้ 1.การเฝ้าระวังควบคุมโรคในทันทีที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก 2.ป้องกันไม่เกิดโรคซ้ำหรือเพิ่มมากขึ้น 3.การเข้าถึงบริการรักษาต้องเป็นไปอย่างรวดเร็วเพื่อลดการป่วยตาย 4.การสื่อสารความเสี่ยงต้องชัดเจนและทั่วถึงเพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานให้ความสำคัญและเกิดความร่วมมือ 5.การร่วมมือกับภาครัฐส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งทั้ง 5 มาตรการดังกล่าวต้องอาศัยเจ้าหน้าที่จากทุกภาคส่วน และประชาชนดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนการป่วยตายจากโรคไข้เลือดออกของประชาชนในพื้นที่” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า สธ.ได้จัดทำทำเนียบผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจวินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออก พร้อมจัดอบรมฟื้นฟูการตรวจวินิจฉัย และรักษาผู้ป่วยไข้เลือดออกให้โรงพยาบาลทุกแห่ง รวมทั้งขอความร่วมมือโรงเรียน อบท.ชุมชน โรงแรม รีสอร์ท ร่วมกันทำบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ โดยใช้ 5 ป เก็บให้เกลี้ยงไม่เลี้ยงยุงลาย โดยการเก็บขยะ เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง และเก็บน้ำให้มิดชิด เพื่อลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายพาหะของโรคอีกด้วย

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ไข้เลือดออก ขณะนี้ถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเนื่องจากภายใน 2 สัปดาห์ยอดผู้ป่วยจาก 17,000-18,000 ราย พบว่า ตัวเลขภายใน 3-4 สัปดาห์ หรือตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 24 ก.ค.พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมเป็น 26,079 ราย โดยเสียชีวิตแล้ว 27 ราย ซึ่งการตายปีนี้พบการเสียชีวิตของผู้ใหญ่อายุตั้งแต่15-24 ปีถึง 14 ราย และพบในเด็ก 9-14 ปี อีก 13 ราย โดยอัตราป่วย 39.69 ต่อประชากรแสนคน อัตราป่วยตาย 0.11% ทั้งนี้ พบผู้ป่วยมากที่สุดที่ภาคกลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้ เหนือ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ถือว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกรุนแรงกว่าโรคมือเท้าปากแล้ว ทั้งนี้ หากไม่มีมาตรการการควบคุมที่ดี คาดว่า ตัวเลขผู้ป่วยจากโรคไข้เลือดออกจะพุ่งสูงถึง 50,000 ราย ส่วนสายพันธุ์ที่พบการระบาดก็จะมีทุกสายพันธุ์ ตั้งแต่ เอ บี ซี ดี ทั้งนี้ ภายใน 2 ปี ประเทศไทยจะมีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกใช้ ซึ่งเป็นวัคซีนที่คิดค้นในประเทศไทยและทำในประเทศไทย

ด้านนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกปีนี้ ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค.-ปัจจุบัน พบผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศสะสม 26,079 ราย ส่วนใหญ่รักษาหาย มีรายงานเสียชีวิต 27 ราย โดยได้ให้ทุกจังหวัดดูแลอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกับโรคมือเท้าปาก ทั้งการป้องกันโรค การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ทั้งในบ้านและรอบๆ บ้าน โรงเรียน วัด และการดูแลรักษาผู้ป่วยซึ่งในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายโรคมือเท้าปาก
กำลังโหลดความคิดเห็น