xs
xsm
sm
md
lg

ไข้เลือดออกป่วยสะสม 29,490 ราย ตาย 28 ราย สถานการณ์เริ่มดีลดลง 22%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เผยโรคไข้เลือดออกปีนี้ มีผู้ป่วยสะสม 29,490 ราย ตาย 28 ราย โวลดลงกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา 22% สั่ง สสจ.ทุกจังหวัดกำจัดยุงลายต่อเนื่อง ย้ำแพทย์รักษาเด็กและผู้ใหญ่เข้มตรวจวินิจฉัยและรักษา แนะ ปชช.พบเด็กไข้สูงติดต่อเกิน 2 วัน หากกินยา-เช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลด ขอให้นึกถึงไข้เลือดออก และรีบพาไปพบแพทย์

วันนี้ (10 ส.ค.) ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังนำลงพื้นที่โรงพยาบาลเกาะสมุย เพื่อตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์โรคไข้เลือดออก และนำเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อสม. รณรงค์กำจัดยุงลายในตำบลบ่อผุดว่า สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกทั้งประเทศช่วง 8 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 - 7 สิงหาคม 2555 รวม 29,490 ราย กว่าร้อยละ 99 รักษาหาย มีเสียชีวิต 28 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตายร้อยละ 0.09 สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2555 แนวโน้มลดลงกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านร้อยละ 22 จำนวนผู้ป่วยสะสมมากที่สุดที่ภาคกลาง 10,959 ราย รองลงมาคือภาคอีสาน 8,054 ราย ภาคใต้ 5,702 ราย และภาคเหนือน้อยที่สุด 4,775 ราย โดยที่เกาะสมุย มีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 337 ราย ร้อยละ 32 เป็นชาวพม่า เสียชีวิต 1 ราย อัตราป่วยสะสม 3 อันดับแรกได้แก่ ตำบลบ่อผุด 217 ราย รองลงมาตำบลมะเร็ด 39 ราย และตำบลแม่น้ำ 38 ราย

นพ.สุรวิทย์กล่าวด้วยว่า โรคไข้เลือดออกสามารถพบได้ทุกวัย โดยผู้ป่วยในปีนี้ส่วนใหญ่จะพบในเด็กโต อายุต่ำกว่า 12 ปี อาการเด่นของโรคไข้เลือดออก ที่ต่างจากไข้หวัดคือจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และไข้จะสูงติดต่อกัน 2 ถึง 7 วัน ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อาเจียน ส่วนใหญ่จะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูกไหล ขอให้ประชาชนสังเกตลักษณะไข้ หากกินยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอลแล้ว หรือเช็ดตัวลดไข้แล้วไข้ไม่ลงใน 2 วัน ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออก ให้พาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ป้องกันอาการช็อคซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ ได้กำชับให้แพทย์ที่รักษาเด็กและรักษาผู้ใหญ่เข้มงวดในการตรวจวินิจฉัย โดยหากพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ให้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วซึ่งมีประมาณ 1,200 ทีม ลงควบคุมการแพร่ระบาดทันที

“กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ กลุ่มเด็กเล็ก ทั้งในศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียน และอนุบาล เนื่องจากยุงลายจะกัดในเวลากลางวัน ต้องให้เด็กนอนในมุ้ง และต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบริเวณใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง” รมช.สาธารณสุขกล่าว

นพ.สุรวิทย์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สธ.ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกแห่งเร่งควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด ซึ่งฤดูฝนเป็นช่วงระบาดของโรคนี้มากที่สุด ได้เน้นหนักกำจัดลูกน้ำยุงที่ยังอยู่ในแหล่งน้ำขังต่างๆ และกำจัดยุงตัวเต็มวัย เพื่อตัดวงจรและลดจำนวนยุงไม่ให้เป็นตัวการแพร่เชื้อไปสู่คนได้ มาตรการปราบยุงลาย ที่เน้นหนักคือ 5 ป. ได้แก่ ปิดฝาตุ่มน้ำ, เปลี่ยนน้ำในภาชนะทุก 7 วัน, ปล่อยปลากินลูกน้ำ, ปรับปรุงสภาพแวดล้อม และปฏิบัติเป็นประจำ พร้อมขอความร่วมมือภาคีเครือข่ายสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน อาสาสมัครสาธารณสุข ที่สำคัญคือประชาชน ให้ช่วยกันดำเนินการอย่างพร้อมเพรียงกันและถูกวิธี
กำลังโหลดความคิดเห็น