xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.กรุงเก่าเตือนภัยระวัง “โรคไข้เลือดออก” ระบาดช่วงหน้าฝน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระนครศรีอยุธยา - นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เตือนภัยระวัง “โรคไข้เลือดออก” ระบาดช่วงหน้าฝน

วันนี้ (23 ก.ค.) นพ.สมพงษ์ บุญสืบชาติ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้เข้าสู่ฤดูฝน มักมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นช่วงๆ การเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศเช่นนี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลายชนิด โดยเฉพาะโรคที่อาจถึงแก่ชีวิตได้ก็คือ “โรคไข้เลือดออก” สาเหตุของโรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัส “เดงกี” (Dengue) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำไปสู่การเกิดโรคในคน

โดยผู้ป่วยจะมีอาการ ได้แก่ มีไข้สูงเฉียบพลันประมาณ 2-7 วัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ รวมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง และอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย บางรายอาจมีจุดเลือดสีแดงขึ้นตามตัวแขนขา อาจมีเลือดกำเดาออก หรือเลือดออกตามไรฟัน โดยอาการเหล่านี้อาจหายได้ใน 2-3 วัน หากไข้ไม่ลดให้สงสัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก ให้รีบนำพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน ในบางรายมีถ่ายอุจจาระดำเนื่องจากมีเลือดออก ซึ่งจะทำให้เกิดอาการช็อกได้ ในรายที่ช็อกจะสังเกตได้จากการที่ไข้ลด แต่ผู้ป่วยซึมลง ตัวเย็น หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้

การดูแลรักษา ถ้าไข้ไม่สูงมากให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ดื่มน้ำตาลเกลือแร่ หรือน้ำบ่อยๆ เพื่อให้ร่างกายสดชื่น และควรงดอาหารที่มีสีแดง เพราะหากอาเจียนออกมาอาจทำให้เข้าใจผิดว่า เป็นเลือด หากไข้สูงให้ทานยาพาราเซตามอลเท่านั้น และห้ามทานยาจำพวกแอสไพริน ไอบูโปรเฟน เพราะจะทำให้เลือดออกมาก ผู้ป่วยจะช็อก และเสียชีวิตได้ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลาน ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกต้องเฝ้าระวังไม่ให้เกิดภาวะช็อก และควรระมัดระวังอย่าทำให้ร่างกายเสี่ยงต่ออาการเลือดออก เช่น การแคะจมูก การแปรงฟัน เป็นต้น

นพ.สมพงษ์ บุญสืบชาติ กล่าวต่อไปว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนในครอบครัว และชุมชนต้องร่วมแรงร่วมใจกันกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงลายกันอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันตนเอง และบุคคลที่รัก ในครอบครัวให้ปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออก และเชิญชวนประชาชนในชุมชนปฏิบัติตาม “หลัก 5 ป.” ได้แก่ ป. ที่ 1 คือ “ปิด” ได้แก่ ปิดฝาโอ่งให้มิดชิด หรือคว่ำภาชนะที่มีน้ำขังอยู่ เพื่อเป็นการป้องกันการเพาะพันธุ์ของยุงลาย ป. ที่ 2 คือ “เปลี่ยน” ต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำในภาชนะทุกๆ 5-7 วัน เช่น เปลี่ยนน้ำในขวดเลี้ยงต้นไม้ แจกันดอกไม้ และเปลี่ยนน้ำในจานรองตู้กับข้าวบ่อยๆ หรือใส่เกลือแกง ผงซักฟอก น้ำส้มสายชู หรือทรายอะเบท ป. ที่ 3 “ปล่อย” หากเป็นไปได้ให้ปล่อยปลาหางนกยูงในอ่างบัว บ่อน้ำ โอ่งน้ำ ป. ที่ 4 “ปรับปรุง” คือ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน และบริเวณบ้าน ไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย และ ป. ที่ 5 “ปฏิบัติ” จากที่กล่าวมาข้างต้น “หากประชาชนทุกครัวเรือนนำหลัก 5 ป. ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปรุง มาปฏิบัติเป็นนิจ จะสามารถช่วยกำจัดลูกน้ำยุงลาย” ได้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น