xs
xsm
sm
md
lg

พบป่วยไข้เลือดออกกว่าหมื่นราย สธ.สั่ง สสจ.คุมการระบาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงหมอ พบคนป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศกว่าหมื่นราย เสียชีวิต 9 ราย ในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมา เผย ภาคใต้ป่วยมากสุด สั่งแพทย์สาธารณสุขจังหวัดประสานแต่ละท้องถิ่น เร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และฉีดพ่นสารเคมีกำจัด
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (30 พ.ค.) ที่โรงพยาบาลปากช่อง จ.นครราชสีมา นายแพทย์ สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย เกิดจากยุงลายกัด ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานว่าตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม 2555 มียอดผู้ป่วยทั่วประเทศ 10,146 ราย เสียชีวิต 9 ราย แม้ว่าจะได้รับการดูแลรักษาอย่างดีที่สุดก็ยังมีผู้เสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุข จึงถือว่าเป็นปัญหาที่มีความสำคัญมาก อีกทั้งขณะนี้ เข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หรือ สสจ.เข้มข้นดำเนินงานป้องกันควบคุมโรค โดยร่วมกับหน่วยงานในจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จนถึงระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เข้าไปดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย

นายแพทย์ สุรวิทย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้พบการระบาดของไข้เลือดออกมากในภาคใต้ มีอัตราป่วยสูงสุดพบ 29 คนในประชากร 1 แสนคน ภาคอื่นๆ พบบ้างแต่ไม่รุนแรง โดยภาคกลางพบผู้ป่วย 22 คน ในประชากร 1 แสนคน ภาคเหนือ 10 คน ในประชากร 1 แสนคน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 คน ในประชากร 1 แสนคน ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการพ่นหมอกควันกำจัดยุง การใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ และการให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรค

อย่างไรก็ตาม ขอฝากเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังลูกหลาน อย่าให้ถูกยุงกัด โดยให้นอนในมุ้งลวด หรือมุ้งครอบ ทายากันยุง หากมีไข้ ขอให้ระมัดระวังเรื่องการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน เพราะจะทำให้เลือดออกง่าย โดยหากเป็นไข้เลือดออก จะมีโอกาสเสี่ยงตกเลือด ช็อกได้ ขอให้ใช้ยาลดไข้พาราเซตามอลและเช็ดตัวลดไข้ และหากมีไข้สูงลอย กินยาลดไข้แล้วยังไม่ดีขึ้น ขอให้พาไปรับการรักษากับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ หรือ รพ.สต.หรือโรงพยาบาลทุกแห่งใกล้บ้าน เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัย และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายถึงชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น