xs
xsm
sm
md
lg

ภาคใต้น่าห่วง เตือนระวังยุงลายแพร่ไข้เลือดออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เตือนคนใต้ระวังยุงลายแพร่ไข้เลือดออกในช่วงฝนตกต่อเนื่อง หลังพบยอดป่วยปีนี้พุ่งเกิน 5 หมื่นราย และเสียชีวิต 50 รายแล้ว เผยจัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วร่วม สสจ.ให้ความรู้ ปชช.กำจัดยุง และควบคุมป้องกันไข้เลือดออกแล้ว

วันนี้ (24 ต.ค.) นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะภาคใต้ที่ช่วงนี้หลายพื้นที่อาจเกิดฝนตกหนัก ทำให้เกิดแอ่งน้ำขัง หรือน้ำขังตามภาชนะต่างๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้ ทั้งนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-16 ต.ค. 2555 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม จำนวน 52,008 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 81.42 ต่อประชากรแสนคน และมีผู้เสียชีวิต 50 ราย เมื่อแบ่งเป็นรายภาค พบภาคกลางมีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด คือ 20,600 ราย รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14,347 ราย ภาคเหนือ 9,076 ราย และภาคใต้ 7,985 ราย แต่เมื่อคิดจากอัตราป่วย จะพบว่า ภาคกลางมีอัตราป่วยมากที่สุด คือ 95.27 ต่อประชากรแสนคน รองลงมากลับเป็นภาคใต้ที่ 89.79 ต่อประชากรแสนคน ส่วนตลอดทั้งปี 2554 ที่ผ่านมาทั่วประเทศมีผู้ป่วยจำนวน 65,971 ราย เสียชีวิต จำนวน 59 ราย
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า นอกจากปัญหาฝนตกหนักในภาคใต้แล้ว ในบางพื้นที่ยังมีแนวชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน มีชาวไทย และชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวจำนวนมาก ทำให้มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง คร.จึงมีมาตรการเข้มข้นในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคไข้เลือดออกที่อาจจะเกิดขึ้น โดยการเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เข้าไปร่วมดำเนินการกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และหน่วยงานในท้องถิ่น กรณีเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก และพร้อมสนับสนุนการดำเนินการทุกด้าน เช่น ทีมสอบสวนโรค ทีมปฏิบัติการพ่นสารเคมีกำจัดยุงตัวเต็มวัย ทรายกำจัดลูกน้ำ ยาทากันยุง และสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนร่วมกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดสิ่งแวดล้อมให้ปลอดยุงลายเพื่อลดปริมาณยุงลายให้มากที่สุด

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มเด็กเล็ก ผู้ปกครองต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเด็กยังไม่สามารถบอกอาการของตัวเองได้ ผู้ปกครองควรสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากบุตรหลานของท่านป่วยมีไข้มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป เมื่อเช็ดตัวและกินยาลดไข้แล้วไข้ยังลอยไม่ลดนาน 2-3 วัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของไข้เลือดออก ไม่ต้องรอให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนัง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจ ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อกและเสียชีวิต ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ ไข้เลือดออกมักจะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากการเป็นไข้หวัด เว้นแต่จะเป็นทั้งสองชนิดในเวลาเดียวกัน อาจจะมีอาการทั้งไอและมีน้ำมูกร่วมด้วย และหากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 แต่ผู้ป่วยซึมลง กินหรือดื่มไม่ได้ให้รีบกลับมาพบแพทย์เพื่อรักษาให้ทันท่วงที

“นอกจากการปราบยุง และดูแลกลุ่มเด็กเล็กเป็นพิเศษแล้ว ต้องระมัดระวังไม่ให้ยุงกัดโดยวิธีต่างๆ เช่น ทาโลชั่นป้องกันยุง นอนในมุ้ง หรือห้องมุ้งลวด หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มืดๆ หรือที่มียุงมาก เป็นต้น หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0 2590 3333” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น