xs
xsm
sm
md
lg

คร.จัดแสดงภาพป้องกันไข้เลือดออกอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คร.จับมือ ส.โรคติดเชื้อในเด็กฯ จัดแสดงนิทรรศการประกวดภาพระบายสี หนุนกิจกรรมรณรงค์ไข้เลือดออกอาเซียน หลังพบการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออก 70% เกิดในภูมิภาคอาเซียน

วันนี้ (20 ก.ย.) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวภายหลังมอบโล่รางวัลการประกวดวาดภาพระบายสี “บ้านเพาะรัก ไม่เพาะยุง” การประกวดคลิป “เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย” และเปิดนิทรรศการแสดงผลงานการประกวดวาดภาพระบายสี สนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ไข้เลือดออกอาเซียน ว่า โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสำคัญในกลุ่มประเทศอาเซียน กว่าร้อยละ 70 ของโลกมีสถานการณ์แพร่ระบาดอยู่ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากภูมิอากาศแบบร้อนชื้นเหมาะสำหรับการแพร่พันธุ์ของยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออก ทั้งนี้ ที่ประชุมของรัฐมนตรีอาเซียน 10 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา บรูไนดารุสลาม มาเลเซีย ลาว พม่า ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และ ไทย มีมติร่วมกันที่จะรวมกันเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก โดยกำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปี เป็นวัน ASEAN Dengue Day

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากหลังฝนตกหนักในหลายพื้นที่ จะเกิดแอ่งน้ำขังตามภาชนะต่างๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงได้ โดยทั่วไปยุงลายจะวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง ซึ่งเป็นน้ำนิ่ง ใส และสะอาด และน้ำฝนมักเป็นน้ำที่ยุงลายชอบวางไข่มากที่สุด จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-18 กันยายน 2555) พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม จำนวน 42,970 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 67.27 ต่อประชากรแสนคน และมีผู้เสียชีวิต 44 ราย เมื่อแยกเป็นรายภาคที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ ภาคกลาง จำนวน 16,417 ราย รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11,940 ราย ภาคเหนือ 7,449 ราย และภาคใต้ 7,164 ราย ตามลำดับ แต่เมื่อคิดจากอัตราป่วย จะพบว่า ภาคใต้มีอัตราป่วยมากที่สุด คือ 80.56 ต่อประชากรแสนคน และตลอดปี 2554 ที่ผ่านมา ทั่วประเทศมีผู้ป่วยจำนวน 65,971 ราย เสียชีวิตจำนวน 59 ราย

ประชาชนต้องระวังไม่ให้ยุงกัด อาทิ ทาโลชั่นป้องกันยุง นอนในมุ้ง หรือห้องมุ้งลวด หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มืดๆ หรือที่มียุงมาก สำหรับกลุ่มเด็กเล็กผู้ปกครองต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะเด็กยังไม่สามารถบอกอาการของตัวเองได้ ผู้ปกครองควรใช้วิธีสังเกตอาการของเด็กอย่างใกล้ชิด หากบุตรหลานป่วยมีไข้มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป เมื่อเช็ดตัวและกินยาลดไข้แล้วไข้ยังลอยไม่ลดนาน 2-3 วัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของไข้เลือดออก ไม่ต้องรอให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนัง ให้รีบไปพบแพทย์เจาะเลือด ก่อนที่ผู้ป่วยจะเกิดอาการช็อกและเสียชีวิต” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งของไข้เลือดออก คือ มักจะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากการเป็นหวัด เว้นแต่จะเป็นไข้ทั้งสองชนิดในเวลาเดียวกัน อาจจะมีอาการทั้งไอและมีน้ำมูกปนด้วย และหากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงที่ไข้ลดลงในวันที่ 3-4 แต่ผู้ป่วยซึมลง กินหรือดื่มไม่ได้ให้รีบกลับมาพบแพทย์เพื่อรักษาให้ทันท่วงที

สำหรับนิทรรศการประกวดภาพระบายสีป้องกันโรคไข้เลือดออก กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร นำผลงานการประกวดวาดภาพระบายสี เนื่องในวันไข้เลือดออกอาเซียนที่ผ่านมา จัดแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้รับชมผลงานที่ชนะเลิศและผลงานที่โดดเด่นของนักเรียน จำนวน 35 ภาพ ระหว่างวันที่ 20-24 กันยายนนี้ ณ บริเวณห้องโถง L หน้าห้องสมุด หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ถนนพระราม 1 แขวงปทุมวัน กรุงเทพฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น