xs
xsm
sm
md
lg

แนะใช้ระบบ One Stop Service ดูแลช่วยเหลือผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล” แนะ พม.ดูแลผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวแบบเบ็ดเสร็จ และให้ความช่วยเหลือแบบ One Stop Service ลดความยุ่งยากประสานงาน-ตำรวจเกี่ยงไม่รับคดี-ปชช.เมินขอความช่วยเหลือ เพราะความอายถึง 42.1% น่าห่วงโพลพบ 67.7% สื่อออนไลน์-ละคร มีอิทธิพลต่อความรุนแรง

วันนี้ (19 พ.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวในการเสวนา “บทเรียน 5 ปี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว” เนื่องในกิจกรรมรณรงค์วันยุติความรุนแรงปี 2555 ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมทั้งเปิดตัว “คู่มือ รู้สิทธิ..รู้ใช้” และเดินแจกสื่อสติกเกอร์เพื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงรอบบริเวณงาน ว่า ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แม้สถิติของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะระบุว่า มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงประมาณ 1 หมื่นกว่ารายนั้น แต่เชื่อว่าใต้พรมมีผู้ถูกกระทำความรุนแรงซ่อนอยู่อีกกว่านับแสนราย แต่ไม่มีการมาแจ้งความหรือขอความช่วยเหลือ เนื่องจากมีความอาย ไม่รู้ช่องทางขั้นตอนการรับคำปรึกษา หรือตำรวจบางคนมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวจึงไม่รับแจ้งความ

นายจะเด็จ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องทำกลไกการดูแลคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวให้ดีขึ้น หน่วยงานหลักอย่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ต้องมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เพื่อให้เป็นหน่วยงานเดียวในการดูแล ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนอย่างปัจจุบันที่มีทั้งสถาบันครอบครัวและสำนักงานกิจการสตรี โดยอาจประกาศเป็นกฎกระทรวง ล่าสุด ตนได้ทำจดหมายเสนอเรื่องดังกล่าวไปยัง พม.แล้ว แต่คงต้องรอประชุมอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง

“การเป็นหน่วยงานเดียวที่ดูแลเรื่องดังกล่าวจะช่วยให้การประสานงานกับตำรวจและโรงพยาบาลสะดวกมากขึ้น แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังนี้ 1.มีพนักงานสอบสวนหญิงเพิ่มมากขึ้น 2.มีกลไกความเป็นมิตรมากขึ้น และ 3.ครบวงจรสามารถให้ความช่วยเหลือทั้งหมดได้ในจุดเดียว อย่างบ้านพักเด็กและครอบครัวก็ต้องให้อำนาจในการพาไปแจ้งความหรือพาไปโรงพยาบาล เป็นต้น ตรงนี้จะช่วยให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวกล้าที่จะออกมาเรียกร้องเพิ่มมากขึ้น” นายจะเด็จ กล่าว
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
นายจะเด็จ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความเข้าใจให้ผู้ถูกกระทำทราบและเข้าใจเจตนาของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ให้มากขึ้นด้วย อย่างผู้หญิงก็ต้องทำความเข้าใจว่า การออกมาเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้เป็นการนำสามีเข้าคุก แต่กฎหมายจะเน้นในการปรับพฤติกรรมของผู้ชายและผู้หญิง เช่น ไม่ให้ผู้ชายกลับไปใช้ความรุนแรงซ้ำ และผู้หญิงต้องถูกดึงออกมาจากความรุนแรง เป็นต้น เพื่อให้ผู้ถูกกระทำออกมาใช้สิทธิ ซึ่งในปีนี้ได้ใช้แนวคิด “รู้สิทธิ รู้ใช้” ในการรณรงค์ รู้สิทธิ คือ รู้สิทธิของตัวเองตามกฎหมาย รู้ใช้ คือ รู้ว่ามีช่องทางช่วยเหลือ และพร้อมที่จะใช้กฎหมาย เพื่อหยุดความรุนแรง ปกป้องตัวเองและแก้ปัญหาอย่างมีสติ

นายจะเด็จ กล่าวด้วยว่า สำหรับผลการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว จากกลุ่มตัวอย่าง 1,005 ราย ใน 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อำนาจเจริญ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี ชุมพร และกรุงเทพฯ พบว่า ร้อยละ 70.7 มีความเข้าใจปัญหาความรุนแรงในครอบครัวว่าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ร้อยละ 19 มองว่าการทะเลาะ การทุบตีในครอบครัวเป็นเรื่องปกติธรรมดา และร้อยละ 42.8 ไม่เคยเข้ามามีส่วนร่วมช่วยแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเลย ร้อยละ 51.1 เพื่อนบ้าน/ชุมชน เป็นสถานที่ที่พบเห็นความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุด ร้อยละ 35 คือพื้นที่จากสื่อโทรทัศน์/หนังสือพิมพ์ และร้อยละ 11 พบเห็นในครอบครัวตนเอง ส่วนปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงร้อยละ 67.7 มองว่า สื่อละคร สื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อการเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรง และร้อยละ 78.1 คิดว่ามาจากฤทธิ์แอลกอฮอล์ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของโรงพยาบาลรามาธิบดีที่พบว่า ในครอบครัวที่มีคนดื่มสุรา จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่า

เมื่อถามถึงการรับรู้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงฯ พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 80.8 รู้ว่ามีกฎหมายแต่ไม่รู้รายละเอียด ร้อยละ 77.8 ทราบว่ามีหน่วยงานหรือมูลนิธิต่างๆ คอยให้คำแนะนำ แต่ปัจจัยที่ตอกย้ำทำให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้าขอความช่วยเหลือ เนื่องจากอายร้อยละ 42.1 ไม่รู้ช่องทางขั้นตอนการรับคำปรึกษาร้อยละ 37 ไม่เชื่อว่าภาครัฐจะช่วยเหลือได้จริงร้อยละ 16.4 และกลัวมีปัญหากระทบต่อหน้าที่การงาน กลัวถูกตำหนิ ไม่อยากให้คนอื่นรู้ร้อยละ 4.5” นายจะเด็จ กล่าว

นายจะเด็จ กล่าวต่อไปว่า กลุ่มตัวอย่างมากถึงร้อยละ 85.6 ต้องการให้ผู้ถูกกระทำออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง และร้อยละ 89.2 ระบุว่า กฎหมายต้องบังคับใช้จริงจัง ร้อยละ 78.8 ชุมชนควรมีส่วนร่วมแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และร้อยละ 81 สื่อละครสื่อออนไลน์ไม่ควรยั่วยุหรือส่งเสริมพฤติกรรมเลียนแบบการใช้ความรุนแรง อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลสะท้อนว่า แม้ประชาชนจะรู้ว่ามีกฎหมาย แต่ไม่ต้องการขอรับความช่วยเหลือ เพราะไม่มั่นใจในระบบบริการ เช่น อายจึงต้องยอมจำนน หรือตำรวจบางคนมองเป็นเรื่องส่วนตัวไม่รับแจ้งความ

นางสาวอรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงฯ แต่ปัญหายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชาชนและเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจกฎหมาย และมองว่าความรุนแรงเป็นคดีทั่วไปที่สามารถยอมความกันได้และเป็นเรื่องในครอบครัว หากเจ้าหน้าที่รัฐทำให้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความศักดิ์สิทธิ์เชื่อว่าจะสามารถลดผู้ที่จะกระทำความรุนแรงได้ จึงอยากให้หน่วยงานองค์กรท้องถิ่นมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในชุมชนด้วย ผู้ถูกกระทำความรุนแรงก็ต้องกล้าออกมาร้องขอให้กฎหมายคุ้มครอง เลิกอาย และต้องติดตามคดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐหันมาใส่ใจกับคดีความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น

ด้าน นางเอ (นามสมมติ) ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงมานานกว่า 18 ปี และตัดสินใจใช้กฎหมายเป็นตัวช่วย กล่าวว่า หลายปีมาแล้วตนถูกกระทำความรุนแรงจากผู้ชายหมู่บ้านเดียวกัน ถูกทั้งทุบตี และเคยถูกกักขัง พอหนีออกมาได้ก็สบสนอยู่นานไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร จากนั้นจึงเข้ารับคำปรึกษากับมูลนิธิ ซึ่งทางมูลนิธิฯได้ให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ทั้งด้านจิตใจและกฎหมาย ทำให้ตนมีกำลังใจที่จะลุกขึ้นมาสู้เพื่อตัวเองอีกครั้ง และสุดท้ายกฎหมายก็ช่วยให้เป็นอิสระคุ้มครองความปลอดภัยให้กับตนได้จริงๆ

ยังมีผู้หญิงที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรง อีกจำนวนมากที่ต้องทุกข์ทรมาน เพราะความกลัวและไม่กล้าที่จะลุกขึ้นมาทวงสิทธิ ดังนั้น จึงอยากให้ทุกคนลุกขึ้นสู้ และอย่ากลัวที่จะนำกฎหมายไปเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือตัวเอง ขอให้ทุกคนรู้จักที่จะรักตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง รู้สิทธิตามกฎหมายและรู้จักใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์เพราะถ้าเราไม่ลุกขึ้นสู้จะไม่มีใครช่วยเราได้” นางเอ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น