ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีภาวะที่สูงขึ้น รวมถึงความรุนแรงที่เปลี่ยนไปในรูปแบบต่างๆ แม้ว่าจะเป็นเวลากว่า 5 ปีที่ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 เกิดขึ้นมาในประเทศไทย แต่ปัญหาความรุนแรงดังกล่าวกลับไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวระหว่างการเสวนาในหัวข้อ “บทเรียน5ปี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว” และจัดกิจกรรมรณรงค์ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)และการเปิดตัว “คู่มือ รู้สิทธิ์..รู้ใช้” ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว เป็นพ.ร.บ.ที่คนส่วนมากคิดว่าเป็นตัวกฎหมายที่เข้าใจยาก ซึ่งจากผลสำรวจของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระหว่างวันที่ 20 ต.ค. - 10 พ.ย. 2555 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,005 ราย ใน 8 จังหวัด คือ เชียงใหม่ อำนาจเจริญ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี ชุมพร และกรุงเทพฯ พบว่ามีผู้ที่รู้ว่ามีพ.ร.บ.สำหรับคุ้มครองผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรง แต่ไม่รู้รายละเอียดถึง 80% แต่เหตุผลที่ทำให้บุคคลเหล่านี้ไม่กล้าขอความช่วยเหลือเนื่องจาก 42.1% อาย 37 %ไม่รู้ช่องทางขั้นตอนการรับคำปรึกษา 16.4% ไม่เชื่อว่าภาครัฐจะช่วยเหลือได้จริง และ 4.5% กลัวมีปัญหากระทบต่อหน้าที่การงาน กลัวถูกตำหนิ ไม่อยากให้คนอื่นรู้
นายจะเด็จ ยังได้สะท้อนถึงผลสำรวจอีกว่า จากกลุ่มตัวอย่างมีผู้ที่ต้องการให้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงออกมาปกป้องสิทธิของตนเองมากถึง 85.6% มีการระบุว่ากฎหมายต้องมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง 89.2% และชุมชนควรมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและลดความรุนแรงในครอบครัว 78.8% รวมถึงสื่อต่างๆโดยเฉพาะสื่อออนไลน์ไม่ควรส่งเสริมหรือนำเสนอสิ่งที่เป็นการยั่วยุความรุนแรง 81% จากผลสำรวจจึงทำให้รู้ว่า เพราะความไม่มั่นใจในระบบบริการต่างๆ จึงทำให้ไม่ต้องการขอรับความช่วยเหลือใดๆแม้จะรู้ว่ามีกฎหมายคุ้มครองอยู่ก็ตาม เช่นตำรวจบางคนมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวจึงไม่รับแจ้งความ
“แต่สิ่งที่ตนอยากจะฝากไปยังหน่วยงานหลักอย่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันครอบครัวและสำนักงานกิจการสตรี ควรทำงานร่วมกัน ประชุมร่วมกันเพื่อให้งานออกมามีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ขณะเดียวกันต้องสื่อสารให้ผู้ถูกกระทำทราบและเข้าใจเจตนาของกฎหมายฉบับนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ที่ถูกกระทำออกมาใช้สิทธิ และในปีนี้เราจึงใช้แนวคิด “รู้สิทธิ รู้ใช้” ในการรณรงค์ รู้สิทธิคือรู้สิทธิของตัวเองตามกฎหมาย รู้ใช้คือรู้ว่ามีช่องทางช่วยเหลือ และพร้อมที่จะใช้กฎหมาย เพื่อหยุดความรุนแรง ปกป้องตัวเองและแก้ปัญหาอย่างมีสติ” นายจะเด็ด กล่าว
สำหรับคู่มือ “รู้สิทธิ์...รู้ใช้” ที่จัดพิมพ์เพื่อให้ประชาชนได้รู้จักสิทธิของตน รวมไปถึงทำให้ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงนำพ.ร.บ.ในการดังกล่าวไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ซึ่งภายในเล่มจะเป็นการบอกเล่าผ่านตัวการ์ตูนซึ่งเป็นเรื่องจริงของผู้หญิงคนหนึ่งที่ถูกกระทำความรุนแรงมายาวนานกว่า 18 ปี ซึ่งเนื้อเรื่องจะสะท้อนให้ผู้อ่านเห็นถึงชีวิตของคนที่ถูกกระทำความรุนแรงและกล้าที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อตนเอง ภาพตัวการ์ตูนทั้งหมดภายในเล่มทั้งหมดมาจากฝีมือของ นายถิระวัฒน์ พันธุ์ม่วง นักเขียนการ์ตูนอิสระ เพื่อความเข้าใจง่าย รวมถึงเป็นการเพิ่มความกล้าให้กับผู้อ่าน เพื่อที่จะมีความกล้าในการปกป้องตนเอง รวมถึงรู้ช่องทางในการขอตวามช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชน
นายถิระวัฒน์ เล่าถึงมุมมองและโจทย์ที่ได้รับในการทำหนังสือเล่มนี้ว่า เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงหันมารักตัวเองให้มากขึ้น และกล้าที่จะต่อสู้กับความรุนแรงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ตัวอย่างเช่น เรื่องการทะเลาะตบตีกันของสามีภรรยา ที่คนส่วนใหญ่จะเห็นว่าเป็นปัญหาภายในครอบครัว ไม่ควรเข้าไปยุ่ง เดี๋ยวเขาก็ดีกันเอง
“ผู้หญิงเล่านี้เป็นคนที่น่าสงสาร เพราะเขาไม่รู้ว่าจะมีใครมาช่วย ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าที่จะลุกขึ้นสู้ และรักตัวเอง ในคู่มือฉบับนี้ เมื่ออ่านแล้ว ทุกคนจะรู้ว่า เมื่อตกเป็นเหยื่อถูกกระทำความรุนแรงแล้วเราจะมีวิธีจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งในคู่มือนอกจากจะมีกรณีศึกษาแล้ว ยังมีตัวบทกฎหมายที่ทั้งผู้ถูกกระทำความรุนแรง และเจ้าหน้าที่ของรัฐพึงรู้ รวมทั้งสถานที่ติดต่อพร้อมเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ ”นายถิระวัฒน์ กล่าว
คู่มือ “ รู้สิทธิ..รู้ใช้” จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อผู้ถูกกระทำความรุนแรงรู้จักที่จะปกป้องสิทธิของตนเอง เนื่องจากภายในเล่มมีข้อมูลรวมถึงมีกฎหมายเบื้องต้นที่เป็นประโยชน์และคุ้มครองผู้ถูกกระทำ แต่ถ้าหากผู้ที่ถูกกระทำไม่รักและพร้อมที่จะลุกขึ้นสู้เพื่อตนเอง รวมถึงทางเจ้าหน้าที่ของรัฐฯไม่ให้ความสำคัญต่อปัญหาเหล่านี้ ต่อให้จะมีหนังสือที่เป็นประโยชน์อีกกี่ฉบับหรือจะมีกฎหมายออกมารองรับปัญหามากเท่าไหร่ ก็คงไม่มีความหมาย ความรุนแรงที่มีในครอบครัวก็จะเพิ่มขึ้นและกลายเป็นเรื่องปกติของสังคม