xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-เขมร จับมือสร้างเครือข่ายสางปมค้ามนุษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทย-เขมร จับมือเร่งสร้างเครือข่ายระหว่างชาติ แก้ปัญหาค้ามนุษย์ หลังพบชาวแขมร์ถูกกดขี่การจ้างงาน เอาเปรียบค่าแรง พม.เผยดำเนินคดีลำบาก เหตุแรงงานถูกผู้มีอิทธิพลบังคับญาติที่บ้านเกิดข่มขู่
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (12 พ.ย.) นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวระหว่างงานสัมมนาและประชุมเครือข่ายประเทศกัมพูชาและไทยว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ (Cambodia and Thailand Anti-Human Trafficking - CAHT network) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-13 พ.ย.2555 ร่วมกับเครือข่าย Oxfam Quebec และองค์การพัฒนาเอกชนประเทศกัมพูชา ว่า ไทยเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีปัญหาการค้ามนุษย์มานาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ ซึ่งขณะนี้ได้มีการร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อสร้างเครือข่ายในการยุติปัญหา ซึ่งหนึ่งในชาติที่กำลังเผชิญปัญหาอย่างหนัก คือ แรงงานชาวกัมพูชา ที่เดินทางเข้ามาในไทยทั้งแบบถูกกฎหมายและลักลอบเข้าเมือง โดยแรงงานดังกล่าวถูกกระทำที่แตกต่างกันไป เช่น ถูกล่อลวงให้ดำเนินการเอกสารเพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย แต่กลับต้องถูกบังคับให้ขายแรงงาน หรือบางรายแอบเข้าเมืองมาแต่ก็ถูกหว่านล้อมให้ลงเรือประมงแล้วโกงค่าจ้าง เป็นต้น

นายสมพงค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ แรงงานเด็กก็น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีเด็กชาวกัมพูชาทยอยตามพ่อแม่มาประกอบอาชีพในไทยจำนวนมาก ประมาณวันละ 1,000 ราย ตามข้อมูลจากด่านตรวจคนเข้าเมือง จ.สระแก้ว ทั้งอาชีพขอดเกล็ดปลา รับจ้างขูดกางเกงยีน ขายของเร่ เย็บผ้า แต่หากดวงไม่ดีเจอนายหน้าหลอกไปขายแรงงานก็เสี่ยงต่อการค้ามนุษย์เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ไทยและกัมพูชา จึงจำเป็นต้องเร่งผนึกความร่วมมือในด้านการการป้องกันและปราบปราม

นายสก โสภา ตัวแทนจากศูนย์ดูแลสุขภาพเด็กกัมพูชา (Health Centre for Children : HCC) กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลขององค์กร HCC และภาคีเครือข่าย พบว่า มีชาวกัมพูชาที่เข้าข่ายถูกกดขี่ทางแรงงานในประเทศไทย ประมาณ 138 ราย เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ที่ผ่านการดำเนินคดีแล้ว 19 ราย ในจำนวนนี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี 8 ราย ส่วนมากรับจ้างในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ทำนา ทำไร่ โดยถูกนายจ้างเอาเปรียบเรื่องค่าตอบแทน เช่น ไม่ยอมจ่ายค่าแรง หรือ จ่ายค่าแรงราคาถูกแค่วันละประมาณ 50 บาท โดยกลุ่มที่เป็นเหยื่อนั้น มีระยะเวลาในการทำงานที่ประเทศไทย ระหว่าง 6 เดือน - 2 ปี ส่วนมากมาจาก จังหวัดเสียมเรียบ และพระตะบอง

“การติดตามสถานการณ์การค้ามนุษย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ทั้งในไทยและกัมพูชา แม้ช่วง 5-10 ปี หลังจะไม่รุนแรงก็ตาม แต่ก็ยังมีเรื่อยๆ เนื่องจากฐานะของชาวกัมพูชายากจนจึงจำเป็นต้องเข้ามาประเทศไทยเพื่อหารายได้ เพราะงานในระดับแรงงานของกัมพูชานั้นหายาก จึงจำเป็นต้องประสานงานกับหน่วยงานราชการไทยและภาคประชาชนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว” นายสก กล่าว

ด้าน นางเสาวณีย์ โขมพัตร ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกค้ามนุษย์ยังมุ่งเน้นในเรื่องการเอื้อเฟื้อสถานที่ให้อยู่อาศัย การติดตามคดี และการเยียวยาจิตใจเป็นหลัก โดยในส่วนของคนไทยไม่ค่อยประสบปัญหาการล่อลวง แต่ในส่วนของแรงงานกัมพูชานั้นจะเผชิญกับความกดดันที่ถูกผู้มีอิทธิพลบังคับญาติในประเทศต้นสังกัดอยู่ เหยื่อจึงมักปฏิเสธที่จะกล่าวถึงผู้เกี่ยวข้องทำให้การดำเนินคดีค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่า ปัญหาของการค้ามนุษย์ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ยังคงเป็นการใช้แรงงานในด้านประมง ซึ่งมีทั้งกัมพูชา และพม่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของมูลนิธิกระจกเงา ที่ได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์ประเทศไทย ประจำปี 2554 และแนวโน้มในปี 2555 จากพื้นฐานของสภาพปัญหาที่พบเจอมีสถานการณ์การบังคับใช้แรงงานภาคประมงที่ร้องขอความช่วยเหลือ เนื่องจากถูกล่อลวงและบังคับให้ทำงานโดยไม่สมัครใจ ตลอดจนถูกละเมิดสิทธิ กว่า 40 กรณี ลักษณะการล่อล่วงและการบังคับใช้แรงงานยังคงเป็นไปในรูปแบบไม่ต่างจากอดีต กล่าวคือ การล่อลวงผ่านกระบวนการนายหน้าค่าหัว โดยการหลอกลวงผู้เสียหายว่า จะมีงานสบายรายได้ดีให้ทำ ซึ่งเป็นการหลอกให้ผู้เสียหายเข้าใจว่าเป็นงานประเภทอื่นที่ไม่ใช่งานประมง หรือ ชักชวนให้มาทำงานประมง แต่หลอกว่าเป็นประมงชายฝั่งที่ออกไปจับปลากลางทะเลในระยะเวลาสั้น นายหน้าค่าหัวจะนำตัวผู้เสียหายไปขายต่อให้กับผู้ควบคุมเรือในราคาตั้งแต่ 7,000-30,000 บาท ขณะที่ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้แถลงข่าวออกมาในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2554 ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมประมงขาดแคลนลูกเรือประมงมากกว่า 70,000 อัตรา

พ.ต.ท.จตุพร อรุณฤกษ์ถวิล รักษาการผู้อำนวยการส่วนป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่า ปัญหาการจับกุมผู้กระทำผิดในคดีดังกล่าวนี้ ส่วนใหญ่จะมีนายหน้าอยู่อีกประเทศ หรือประเทศที่ 3 ทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีกับนายหน้าซึ่งเป็นต้นทางได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นแหล่งค้ามนุษย์ครบวงจร คือเป็นแหล่งถูกล่อลวง เป็นตลาดกลางในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น อย่างกรณีที่ แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ที่มีผู้เสียหายซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติเกือบ 100 รายนั้น ส่วนมากก็ถูกนายหน้าจากประเทศของตนล่อลวงให้ลงเรือมาทำงานในไทยแล้วทำการเปลี่ยนนายจ้างในขณะทำงาน ซึ่งจุดนี้ค่อนข้างเป็นอุปสรรคในการดำเนินดคี เพราะแม้จะจับกุมได้จำนวนมากมาย แต่สุดท้ายนายหน้าก็มีการส่งต่อแรงงานมาใหม่อยู่ดี จึงอยากให้ฝั่งประเทศกัมพูชาเองได้มีความเข้มแข็งในการตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวด้วย เพื่อจะได้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง
กำลังโหลดความคิดเห็น