เมื่อราวสัปดาห์ได้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างชาวบ้านใน ต.คูขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา ที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ซึ่งที่ผ่านมา ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานรัฐทำกิจกรรมการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “โครงการธนาคารกุ้งไข่และกระชังอนุบาลสัตว์น้ำ” แต่ปรากฏว่า “นายอภิเชษฐ์ เพ็งแก้ว” หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา ต.คูขุด ซึ่งเพิ่งย้ายเข้าไปรับตำแหน่งใหม่ ได้สั่งให้รื้อทิ้งโครงการนี้ จนเรื่องราวบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้านในพื้นที่นั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ได้รับรายการเปิดเผยจาก นายจำรัส หวังมณี เจ้าหน้าที่ภาคสนาม สมาคมรักษ์ทะเลไทย ถึงที่มา และที่ไปของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ดังคำบอกเล่าต่อไปนี้
------------------
แพปลาชุมชนบ้านคูขุด ตำบลคูขุด อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2548 จากการรวมตัวของชาวประมงพื้นบ้านที่ประกอบอาชีพจับสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา สมาชิกแรกเริ่มก่อตั้ง 17 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 200 คน ที่อยู่ในพื้นที่ตำบลคูขุด ตำบลท่าหิน และตำบลคลองรี
เนื่องจากการประกอบอาชีพทำประมงที่มีรายได้ไม่แน่นอน เพราะออกทะเลไปแต่ละครั้งต้องวัดดวงเอา บางทีได้กุ้งปลานำมาขาย มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว แต่บางครั้งออกทะเลไปไม่ได้กุ้งปลา หรือได้มายังไม่พอค่าน้ำมันเรือ ประจวบในปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบลดน้อยลง และที่สำคัญ ปัญหาราคากุ้งปลาที่จับได้พ่อค้าแม่ค้าคนกลางยังให้ราคาที่ไม่ยุติธรรม ทำให้ชาวประมงเริ่มนั่งวงคุยกันหาทางออกการแก้ปัญหาร่วมกัน ทำให้เกิดแพชุมชนขึ้น
กิจกรรมการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบ เป็นสิ่งสำคัญที่ชาวประมงให้ความสำคัญ เพราะสำคัญกับวิถีชีวิต อาชีพหลักคือทำประมง กิจกรรมที่ผ่านๆ มา การปล่อยพันธุ์กุ้งปลาลงทะเลสาบร่วมกับกรมประมง การออกระเบียบให้สมาชิกและคนในชุมชนใช้เครื่องมือประมงที่ไม่ทำลายล้าง เช่น ยาเบื่อ อวนลาก อวนรุน ขนาดตาอวน กัด ที่ไม่เล็กกว่า 5 เซนติเมตร เพื่อจับกุ้งปลาเล็กๆ
โดยกิจกรรมล่าสุดเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูสัตว์น้ำคือ การทำธนาคารกุ้งไข่ และกระชังอนุบาลสัตว์น้ำฯ จากความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมประมง, สถาบันพัฒนาวิจัยสัตว์น้ำฯ (NICA) ภาคเอกชน เช่น สมาคมรักษ์ทะเลไทย, Oxfam, EU จากหลายๆ เวทีได้พูดคุยได้เกิดกิจกรรมทำธนาคารกุ้งไข่ เพื่อปล่อยแม่กุ้งไข่ได้ขยายพันธุ์ในพื้นที่เขตอนุรักษ์ฯ หมู่ที่ 4 ตำบลคูขุด ออกสู่ทะเลสาบสงขลาให้ชาวประมงได้จับกันต่อไป เขตอนุรักษ์ฯ ที่เป็นพื้นที่ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ขยายพันธุ์สัตว์น้ำร่วมกันของชุมชน และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ราคาดีในพื้นที่ทะเลสาบคือ กุ้งก้ามกราม ที่ปัจจุบันกิโลกรัมละ 300-500 บาท
ธนาคารกุ้งไข่ได้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 ชาวประมงส่วนใหญ่เป็นสมาชิกแพชุมชน ได้ร่วมกันบริจาคแม่กุ้งไข่ ได้นำไปปล่อยในธนาคารแล้ว ประมาณ 20 กิโลกรัม หรือประมาณ 180-190 ตัว ทุกคนให้ความร่วมมือกับกิจกรรมนี้เป็นอย่างดี ลูกกุ้งที่เกิดขึ้นภายใน 3-4 เดือนชาวประมงก็ได้จับกันแน่นอน
แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อ นายอภิเชษฐ์ เพ็งแก้ว หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา ตำบลคูขุด ไม่เห็นด้วยกับการทำธนาคารกุ้งของชาวประมง ที่ชุมชนไม่ได้ติดต่อการทำกิจกรรมดังกล่าวกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ จึงให้ทางแพชุมชนทำหนังสือชี้แจงการทำกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งทางแพชุมชนก็ได้ทำหนังสือชี้แจงการทำกิจกรรมไป (โดยที่ผ่านมาการทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันของหัวหน้าเขตฯ คนเก่าๆ ร่วมกับชุมชนไม่เคยมีปัญหาแบบนี้)
แต่ทางนายอภิเชษฐ์ก็บอกยังไม่เข้าใจกิจกรรม มิหนำซ้ำยังบอกให้ชุมชนรื้อธนาคารกุ้งออกภายใน 7 วัน หรืออาทิตย์แรกของเดือนเมษายน 2555 อ้างว่า ธนาคารกุ้งไข่ไปขวางทางเรือ บดบังทัศนียภาพ เป็นเหตุให้ชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มของสมาชิกแพชุมชนก็ไม่พอใจกับพฤติกรรมของนายอภิเชษฐ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ
ชุมชนจึงได้ติดต่อประสานไปยังกรมประมง และสถาบันพัฒนาวิจัยสัตว์น้ำฯ ที่เป็นหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาหนุนเสริมการทำธนาคารกุ้งไข่ทันที ซึ่งทางกรมประมงและสถาบันพัฒนาวิจัยสัตว์น้ำก็ได้ติดต่อประสานมายังหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ ว่า เป็นกิจกรรมที่กรมประมง และสถาบันพัฒนาวิจัยสัตว์น้ำให้การสนับสนุน เป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา ซึ่งก็สอดคล้องกับงานของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบ ก็ควรให้กิจกรรมของชุมชนได้ดำเนินการได้
ทางนายชูศักดิ์ ประมงอำเภอสทิงพระ ก็ได้ติดต่อกับทางนายอภิเชษฐ์ว่า เมื่อไม่ให้ชุมชนทำธนาคารกุ้งที่บอกให้รื้อออกภายใน 7 วัน ก็ขอให้แม่กุ้งได้สลัดไข่ออกก่อนให้หมดใช้เวลาประมาณ 1 เดือนแล้วค่อยรื้อได้ไหม แต่ทางนายอภิเชษฐ์ก็ยังยืนยันให้รื้อออกภายใน 7 วันเหมือนเดิม และหากจะทำธนาคารกุ้งไข่อีกก็ให้กรมประมงทำหนังสือการทำกิจกรรมให้แก่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีกที แล้วยังบอกชุมชนว่า ไม่ดำเนินการทางกฎหมายก็บุญแล้ว
ชุมชนจึงได้รื้อธนาคารกุ้งไข่ออกเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ท่ามกลางความอารมณ์เสียของสมาชิกแพชุมชน กับพฤติกรรมของนายอภิเชษฐ์ หัวหน้าเขตฯ คนนี้
นอกจากนี้ ทางกรรมการและสมาชิกแพชุมชนได้มีมติตกลงร่วมกันว่า จะไม่ขายกุ้งปลาหรือสัตว์น้ำชนิดใดๆ ให้แก่ร้านอาหารของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ อีก หากนายอภิเชษฐ์ยังอยู่ที่นี่
------------------
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าปัญหานี้จะมีทางออกอย่างไรต่อไป