สุโขทัย/พิษณุโลก - ภาคประชาชนลุ่มน้ำน่าน 5 จว.เปิดเวทีถกแก้น้ำท่วม แนะรัฐแก้จุดอ่อนการประสานระหว่างหน่วยงาน ย้ำธรรมชาติเปลี่ยนไปแล้ว รัฐต้องจัดงบหนุนชาวบ้าน ปรับวิถีชีวิต จัดการตนเองรับมือภัยพิบัติ จี้รัฐต้องชัดเจนทางนโยบาย เผยพื้นที่รับน้ำจนถึงวันนี้ยังไม่จบ เจ้าของที่ไม่รู้ชะตากรรมต้องรับน้ำนานแค่ไหน ได้อะไรตอบแทน
วันนี้ (27 มิ.ย.) องค์กรออกซ์แฟมประเทศไทย (Oxfam) ร่วมกับมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนลุ่มน้ำน่าน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และจังหวัดพิจิตร ได้จัดเวทีสัมมนาสรุปบทเรียนแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำน่าน ณ โรงแรมลีลาวดี จ.พิษณุโลก โดยมีองค์กรชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำน่านทั้ง 4 จังหวัดเข้าร่วมประมาณ 80 คน เพื่อสรุปบทเรียนสะท้อนปัญหา และหาข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการน้ำ และการปรับตัวของประชาชนในพื้นที่ต่อภาครัฐ
นางสาวสุนทรี แรงกุศล ผู้อำนวยการองค์กรออกซ์แฟม ประเทศไทย กล่าวว่า เวทีครั้งนี้เป็นการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรง สร้างความเสียหายในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเกษตรกร จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนจะได้ใช้โอกาสในเวทีนี้สรุปบทเรียนและเสนอแนวคิดเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาจากพื้นที่สู่นโยบายของรัฐบาล
แม้ว่าในขณะนี้รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดันโครงการ และงบประมาณอย่างมากมายในการป้องกันและแก้ปัญหา ตลอดจนการลดผลกระทบของน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี
แต่อยากจะเสนอเพิ่มเติมว่า ลำพังการคิด หรือผลักดันมาตรการต่างๆ ที่เป็นอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการทำโครงสร้างพื้นฐาน และระบบการป้องกันน้ำท่วม โดยการคิดมาจากส่วนของภาคราชการเป็นหลักนั้นไม่เพียงพอ เพราะปัญหาเรื่องน้ำท่วมนั้นมีหลายมิติ และมีความซับซ้อน ต้องอาศัยภาคส่วนต่างๆ มาร่วมกันคิดและให้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมในการจัดการปัญหา
ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะจากภาคประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ
นอกจากนี้ยังอยากเสนอให้รัฐจัดสรรงบประมาณในการแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยให้ความสำคัญในมิติของการแก้ปัญหาโดยภาคประชาชนด้วย นอกเหนือจากให้ภาคราชการเป็นผู้ดำเนินการอย่างที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการปรับตัว ปรับวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม เพราะเราต้องยอมรับความจริงว่าสภาพของธรรมชาติวันนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว การคิดแก้ปัญหาก็ต้องคิดบนพื้นฐานที่จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านในพื้นที่ถูกน้ำท่วมได้ตระหนักและมีความพร้อมในการรับมือ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เพื่อที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องพึ่งพิงการช่วยเหลือจากภายนอกมากนัก
เช่น การปรับเปลี่ยนอาชีพ เปลี่ยนวิถีการผลิต การเปลี่ยนแปลงสภาพบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และให้ชาวบ้านในท้องถิ่นได้วางแผน เตรียมรับมือภัยพิบัติด้วยตนเอง เป็นต้น
ที่ผ่านมางบประมาณหรือโครงการต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวกับด้านนี้ ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับเรื่องของโครงการการก่อสร้าง ขุดลอกต่างๆ เพื่อป้องกันน้ำท่วม
ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีความชัดเจนในเชิงนโยบาย เช่น พื้นที่รับน้ำ 2 ล้านไร่จะอยู่ตรงไหน ชาวบ้านแต่ละจังหวัด แต่ละลุ่มน้ำในพื้นที่ดังกล่าวที่ไร่นาของตัวเองจะต้องรับน้ำไว้นานแค่ไหน และจะมีมาตรการการชดเชยอย่างไร วันนี้ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญเพราะทำให้ชาวบ้านจะได้นำความชัดเจนดังกล่าวมาวางแผนจัดการวิถีชีวิต และการจัดการวิถีการผลิตของตนเองได้
ด้านนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า ปัญหาของลุ่มน้ำน่าน หลักๆ ก็คือ พื้นที่ต้นน้ำยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร แม้รัฐจะมีโครงการเพิ่มพื้นที่การปลูกป่าต้นน้ำ แต่ขณะเดียวกันปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มีการขยายพื้นที่การเกษตรเชิงเดี่ยวเกิดขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างมาก
ขณะเดียวกัน ปัญหาอีกด้านหนึ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้สะท้อนคือ ปัญหาการประสานงานในระดับต่างๆ ระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเองยังทำงานแบบไม่มีการบูรณาการอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นระหว่างจังหวัดต่อจังหวัด หน่วยงานต่อหน่วยงาน หรือระหว่างลุ่มน้ำต่อลุ่มน้ำ จะมีปัญหาตรงรอยต่อระหว่างการทำงานเกิดขึ้น ทำให้การบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่ผ่านมาพื้นที่ลุ่มน้ำยมเกิดสภาวะน้ำท่วม แต่พื้นที่ลุ่มน้ำน่านหลายพื้นที่กลับไม่มีน้ำทำการเกษตร ทั้งๆ ที่น้ำยมกับลุ่มน้ำน่านมีระยะทางห่างกันไม่มากนัก
นายหาญณรงค์บอกว่า อยากจะให้รัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากขึ้น และที่สำคัญคือ ควรจะเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหา และเสนอแนวทาง ตลอดจนเข้ามาร่วมดำเนินการบริหารจัดการลุ่มน้ำให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ด้วย เพราะรัฐจะได้ข้อมูลที่หลากหลายและเป็นจริงมากขึ้น