สุโขทัย - องค์กรภาคประชาชน 6 แห่งร่วมกันจัดเสวนาการจัดการลุ่มน้ำยมอย่างยั่งยืน โดยการหาข้อสรุปเป็นแนวร่วมเพื่อเสนอต่อภาครัฐ ระบุได้ 8 ข้อเสนอที่นำมาพัฒนาลุ่มน้ำยมแบบไม่ต้องมีเขื่อน
วันนี้ (18 มิ.ย.) องค์กรภาคประชาชน 6 แห่ง ประกอบด้วย Thai Water Partnership, Oxfam, ชมรมพัฒนาคุณภาพชีวิต, เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ, โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต และเครือข่ายองค์กรชุมชนลูกพ่อขุนราม ได้ร่วมกันจัดการเสวนาสรุปบทเรียนการจัดการน้ำลุ่มน้ำยมอย่างยั่งยืน ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลทุ่งเสลี่ยม อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้เพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์การจัดการน้ำลุ่มน้ำยม แล้วประมวลข้อเสนอภาคประชาชน จัดทำเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนเสนอรัฐบาลต่อไป
เบื้องต้นได้ข้อสรุปทางออกที่ยั่งยืนโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น คือ 1. ให้มีการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ เน้นเป็นวาระแห่งชาติ 2. ผลักดันแนวคิดการจัดการน้ำชุมชนให้เป็นแผนแม่บทในการจัดการน้ำแห่งชาติ 3. แผนการกักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา กรณีลุ่มน้ำยมที่มีลำน้ำสาขาถึง 77 สาขา สามารถผลักดันให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 50 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบอ่างละไม่เกิน 200-300 ล้านบาท รวมทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กด้วย
4. แผนการกักเก็บน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ ซึ่งในลุ่มน้ำยมมีอยู่ 98 ตำบล ใช้งบไม่เกินแหล่งละ 5-10 ล้านบาท 5. การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ 6. การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม เช่น ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ 7. การจัดการทางด้านความต้องการ
8. การพัฒนาระบบประปา เช่น เมืองสุโขทัยขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้ง เพราะมีความสามารถผลิตเพียง 60% จึงต้องขยายระบบการผลิตด้วย และ 9. สนับสนุนการสร้างฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ บ่อหรือสระน้ำในไร่นา
“40 กว่าปีที่ผ่านมาชี้ให้เราเห็นว่าแม้จะมีเขื่อนขนาดใหญ่แล้ว เช่น ลุ่มน้ำปิงมีเขื่อนภูมิพล ลุ่มน้ำวังมีเขื่อนกิ่วลม ลุ่มน้ำน่านมีเขื่อนสิริกิติ์ แต่ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งกลับทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ข้ออ้างที่ว่าถ้ามีเขื่อนลุ่มน้ำยมแล้วจะแก้ปัญหาได้นั้นจึงเป็นเรื่องไม่จริง” นายหาญณรงค์กล่าว
นางสาวสุนทรี แรงกุศล ผู้อำนวยการองค์การออกซ์แฟม (OXFAM) ประเทศไทย กล่าวว่า มหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ส่งผลกระทบต่อ 65 จังหวัดในประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตกว่า 800 ราย และสร้างปัญหาให้ผู้คนจำนวนมากกว่า 14 ล้านคน โดยธนาคารโลกได้ประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,400,000 ล้านบาท
ทรัพย์สิน และที่ดินในภาคกลางถูกน้ำท่วม นักลงทุนชาวญี่ปุ่นชะลอการลงทุนในประเทศไทย พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 11 ล้านไร่ โดยเฉพาะที่ราบลุ่มภาคกลาง ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นอู่ข้าวของโลกได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด ผู้บริโภคในเมืองต้องเผชิญภาวการณ์ขาดแคลนอาหาร และราคาข้าวของที่ดีดตัวสูงขึ้น
ความเสียหายครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นส่งผลให้รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน และการป้องกันน้ำท่วมในอนาคต โดยเฉพาะต้นเหตุสำคัญเกี่ยวกับการจัดการน้ำที่ผิดพลาด ตั้งแต่ช่วงต้นของน้ำในภาคเหนือ จนมาถึงปลายน้ำในภาคกลาง
นางสาวสุนทรีกล่าวว่า รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจำนวนมหาศาลกว่า 350,000 ล้านบาท เพื่อวางแผนการจัดการน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งแผนป้องกันน้ำท่วมเร่งด่วน แต่แผนดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไร้ประสิทธิภาพ และที่ร้ายที่สุดคือ บางแผนงานมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบทางลบต่อกลุ่มประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งได้รับความสำคัญน้อยลงทุกที นั่นคือกลุ่มเกษตรกรรายย่อยในภาคเหนือตอนบน และเกษตรกรรายย่อยที่อาศัยอยู่ในภาคกลาง
“รัฐบาลควรฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ประสบภัยโดยตรง เพราะการแก้ปัญหาที่ผ่านมา รวมทั้งการทุ่มเงินทำเมกะโปรเจกต์เพื่อวางแผนจัดการน้ำนั้นไม่ได้ตอบสนองความต้องการแท้จริง และไม่สอดคล้องกับปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่อีกด้วย”