xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.ลุ่มน้ำปิงจวกเละแผนจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน-ชง 9 ข้อเสนอ ปิดทางผลาญงบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ภาคประชาชนลุ่มน้ำปิงเสนอ 9 แนวทางจัดการน้ำภายใต้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ต้องถอดบทเรียนการจัดการลุ่มน้ำก่อนหน้านี้ ปิดทางผลาญงบลงโครงการเดิมที่ผิดพลาด

เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือได้แจ้งผลสัมมนาการจัดการลุ่มน้ำปิงอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมนวรัตน์ จ.กำแพงเพชร ที่มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ และเครือข่ายลุ่มน้ำปิง โดยการสนับสนุนจาก Oxfam (ประเทศไทย) ได้มีการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาในลุ่มน้ำปิงตั้งแต่ต้นน้ำในอำเภอเชียงดาว ถึงปลายน้ำในจังหวัดนครสวรรค์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า

ในเวทีมีข้อเสนอในการจัดการลุ่มน้ำปิงภายใต้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท 9 ข้อ คือ 1. สร้างป่าให้ซับน้ำ เป็นเขื่อนที่มีชีวิตเพื่อดำรงวิถีชีวิตของผู้คน และการพัฒนาที่ยั่งยืน 2. การแก้ไขปัญหาในลุ่มน้ำปิง ควรมีความสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และความหลากหลายทางชีวภาพในลุ่มน้ำ 3. ให้มีกรรมการลุ่มน้ำสาขา และลุ่มน้ำย่อยที่มาจากภาคประชาชน โดยราชการเป็นฝ่ายหนุนเสริม

4. ให้หน่วยงานราชการเรียนรู้ระบบลุ่มน้ำ วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ การใช้น้ำ ฯลฯ เพื่อให้มีการจัดการน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในแต่ละลุ่มน้ำ 5. ลดพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ และทบทวนนโยบายการปลูกพืชเศรษฐกิจ 6. สนับสนุนชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการป่า และการจัดตั้งกองทุนจัดการป่า

7. อนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำที่ถูกทำลาย เพื่อให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำ และแหล่งอาหารของชุมชน 8. ประยุกต์รูปแบบการจัดการน้ำแบบเหมืองฝาย กับการจัดการน้ำแบบสมัยใหม่ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

และ 9. รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน ทบทวนบทเรียนการจัดการน้ำที่ผ่านมา ไม่ทำลายระบบนิเวศตามธรรมชาติ วิถีชีวิตผู้คน และไม่เดินซ้ำทางเดิม

นายสุนทร เทียนแก้ว กรรมการลุ่มน้ำปิงตอนบน ได้กล่าวในเวทีนี้ว่า พื้นที่ป่าในลุ่มน้ำปิงตอนบนถูกคุกคามด้วยข้าวโพด ยางพารา ไม้เศรษฐกิจต่างๆ อีกทั้งมีโครงการพัฒนาที่จะเข้ามาในลุ่มน้ำปิงตอนบนหลายโครงการ เช่น กระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวง อ่างเก็บน้ำปิงตอนบน โครงการผันน้ำกก ปิง ที่ไม่เปิดเผยข้อมูลของโครงการที่ชัดเจน ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในพื้นที่

ส่วนในพื้นที่ตอนล่างตั้งแต่จังหวัดตากถึงจังหวัดนครสวรรค์ สภาพปัญหาที่พบคือ น้ำหลาก น้ำแล้ง อุทกภัย และภัยแล้งในชุมชนบริเวณเขื่อนภูมิพล ดินโคลนถล่มจากน้ำป่าไหลหลาก พื้นที่ป่าลดลง กลายเป็นพื้นที่ทำกินถึงร้อยละ 90 (ไร่ข้าวโพด กะหล่ำปลี) ทำให้ไม่มีต้นไม้ดูดซับน้ำ มีโครงการก่อสร้างเขื่อน มีการบุกรุก สร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นถนน โรงงานอุตสาหกรรม การสร้างฝายกั้นน้ำปิงเป็นเขื่อนหิน ทำให้เกิดปัญหาการใช้น้ำของชาวบ้าน ซึ่งไม่สอดคล้องกับลักษณะภูมินิเวศของแม่น้ำ

นอกจากนี้ นายตะวันฉาย หงษ์วิลัย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ไม่ตอบปัญหาการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม แต่จะทำลายระบบนิเวศ ที่อยู่ของสัตว์ป่า และแหล่งอาหาร ถ้าเขื่อนแม่วงก์สร้างได้จะมีการสร้างเขื่อนในป่า-เขตอุทยานฯ ทั่วประเทศ

ขณะที่ ดร.วสันต์ จอมภักดี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรรมการลุ่มน้ำปิง ได้ตั้งคำถามว่างบ 3.5 แสนล้านบาทจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน และมีประสิทธิภาพอย่างไร ที่จริงแล้วนโยบายการจัดการน้ำผ่านมาถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 จะต้องมีการถอดบทเรียน เพราะในกรณีของการสร้างเขื่อนแม่กวงน้ำไม่เคยเต็มเขื่อน และไม่เพียงพอต่อการใช้ จึงมีการผันน้ำข้ามแม่แตง ลงแม่งัด ต่อมาลงแม่กวง ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาให้เขื่อนแม่กวงที่ผ่านมา

ส่วนในกรณีการขุดลอกแม่น้ำปิงในจังหวัดเชียงใหม่ จะทำให้น้ำไหลแรง หนองน้ำถูกทำลาย ถนน-สะพานทรุด และไหลท่วมลำพูนในที่สุด

“การใช้เงิน 3.5 แสนล้านจะเป็นการใช้เงินที่สนองนโยบายที่ผิดพลาดของโครงการที่รัฐบาลทำมาก่อนหน้านี้”

อ.อนุชา เกตุเจริญ มรภ.กำแพงเพชร และกรรมการลุ่มน้ำปิง กล่าวถึงปัญหาการจัดการลุ่มน้ำปิงที่ผ่านมาว่า ความรู้ของหน่วยงานราชการ แม้แต่กรรมการลุ่มน้ำในเรื่องการจัดการลุ่มน้ำยังไม่มี การทำงานของหน่วยงานราชการที่มีหลายฝ่าย หลายองค์กรขาดการบูรณาการกัน

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ กล่าวถึงปัญหาการจัดการลุ่มน้ำในภาคเหนือที่ผ่านมาว่า ลำห้วย แม่น้ำทุกสายที่ผ่านมาถูกขุดลอกโดย อปท. และหน่วยงานราชการ และกำลังจะถูกเปลี่ยนแปลงโดยงบ 3.5 แสนล้านบาท ทำให้แม่น้ำแบนราบ ไม่มีสูง ไม่มีต่ำ มีแต่ความลึก เป็นเหมือนคลองชลประทาน ทำให้ความหลากหลายของระบบนิเวศถูกทำลายหมดสิ้น

กำนันบุญจันทร์ วินไธสงค์ กรรมการลุ่มน้ำปิง จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า การทำงานของภาครัฐที่ผ่านมา ภาคประชาชนจะไม่ทราบข้อมูล แต่ทราบเมื่อมีแผนงาน โครงการออกมาแล้ว ทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่มีความยั่งยืน ภาคประชาชนเองมีแผนงานตำบลหรือแผนจังหวัด ซึ่งคิดมาจากชุมชนมากมาย แต่ไม่ถูกนำไปปฏิบัติ ดังนั้นแผนงานที่ออกมาของภาครัฐจึงไม่ตอบรับสภาพปัญหาของท้องถิ่น
กำลังโหลดความคิดเห็น