เป็นปัญหาที่แก้เท่าไหร่ก็แก้ไม่ตก จนเวลาล่วงเลยไปกว่า 30 ปีเข้าไปแล้ว กับโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง ที่ถึงแม้ตอนนี้จะถูกนำมาปัดฝุ่นอีกรอบ แต่ก็ไม่วายต้องพับโครงการเก็บเข้ากรุเหมือนเดิม เมื่อไม่ผ่านการเห็นชอบจากนายกฯ และก็ไร้วี่แววของคำตอบที่จะชี้ทิศทางได้อย่างชัดเจน ซึ่งโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าที่ยังค้างคามากว่า 3 ทศวรรษนี้ ก็เหมือนกับการพายเรือในอ่างที่ไม่รู้จะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่
ย้อนความหลัง 30 ปี ‘ภูกระดึง’
เมื่อพูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงามเป็นลำดับต้นๆ ในประเทศไทย คงต้องมีชื่อของ ‘ภูกระดึง’ จังหวัดเลย ติดอันดับอยู่ในนั้นอย่างแน่นอน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าที่เป็นแหล่งต้นน้ำของลำน้ำพอง และอีกหนึ่งเสน่ห์ที่โดดเด่นของภูกระดึงก็คือ การเดินเท้าพิชิตยอดเขาภูกระดึงตามเส้นทางธรรมชาติที่เราจะได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติ พฤกษานานาพันธุ์รายรอบตัว เป็นระยะทาง 9 กิโลเมตร ซึ่งถึงแม้ระยะทางจะยาวไกลแต่คุ้มค่ากับความเหนื่อยด้วยบรรยากาศและความงดงามเหนือคำบรรยายของ ‘ภูกระดึง’แห่งนี้
“ครั้งแรกไปกับก๊วนเพื่อนตอนวันรุ่นเลยครับ ประมาณปี 2523 แล้วอีกครั้งหนึ่งก็ไปตอนปี 2551 นี่เอง มันเปลี่ยนไปเยอะนะ เมื่อก่อนทางเดินไม่ได้ดีขนาดนี้ เดินลำบากกว่ามาก เดินกันเป็นวันกว่าจะถึงยอด แต่ล่าสุดที่ไปประมาณ 8-9 ชั่วโมงได้ ส่วนเรื่องธรรมชาติ ป่าเขาต้นไม้ก็เปลี่ยนไปนะ แต่ก่อนว่ามันดูอุดมสมบูรณ์กว่านี้ เดินไปก็มีต้นไม้ ใบหญ้า สีเขียวไปหมด แล้วก็มีดอกไม้แปลกๆ ไปตลอดทาง แต่เรื่องคนก็เยอะเหมือนเดิม เดินสวนกันก็จะทักทายกันไปตลอด ผมว่านี่แหละมันคือเสน่ห์ของการเดินขึ้นภูกระดึง เพราะเราเก็บความทรงจำดีๆ เก็บภาพสวยๆ ได้ระหว่างทางที่เดิน”
วรพล วัฒกปัญญา เจ้าของธุรกิจ หนึ่งในนักท่องเที่ยวที่เคยได้สัมผัสความงดงามของภูกระดึง ได้บอกเล่าความประทับใจ เมื่อครั้งหนึ่งเคยพิชิตยอดเขาภูกระดึงมาแล้วเมื่อกว่า 32 ปีที่แล้ว และ ธีรภาพ โลหิตกุล ช่างภาพและนักเขียนสารคดีอิสระ ที่เมื่อ 18 ปีที่แล้ว เคยได้ชื่อว่าเป็นผู้พิชิตยอดเขาภูกระดึง
“ผมเพิ่งขึ้นไปภูกระดึงเมื่อปี 2537 แล้วหลังจากนั้นก็ไม่ได้ไปอีกเลย ตอนนั้นก็อยู่ในสภาพป่าที่สมบูรณ์มาก ก็มีคนขึ้นไปเที่ยวกันมากมาย แล้วก็ได้เห็นชาวบ้านที่มารับจ้างแบกเป้ของนักท่องเที่ยวเยอะแยะมากมาย แต่สิ่งที่เห็นมากที่สุดนั้น สภาพป่าสมบูรณ์มากเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นป่าสน น้ำตกภูค้ำ พืชพรรณไม้ตามธรรมชาติ จำได้ว่าที่ผมไป คนเยอะมาก ก็เลยมีคนทิ้งขยะไว้ตามทาง คนต้องต่อคิวกันเข้าห้องน้ำ เห็นกางเกงในสีต่างๆ หล่นอยู่ตามไรทาง บางทีคนท้องไส้ไม่ดีเข้าห้องน้ำไม่ทันก็ปล่อยข้างทาง จนแยกไม่ออกว่าของคนหรือของสัตว์”
ทิศทางอนาคต กับ กระเช้าไฟฟ้า
โครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงนั้นไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งมาปิ๊งไอเดียได้แต่อย่างใด แต่โครงการนี้เป็นที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่สมัยปี พ.ศ. 2525 นับจากวันนั้นก็ผ่านมาแล้วถึง 30 ปี ที่มีทั้งฝ่ายเคลื่อนไหวและพยายามผลักดันโครงการ กับอีกฝ่ายที่ยังต่อต้านและค้านหัวชนฝา ซึ่งในเมื่อต่างฝ่ายต่างยื้อกันไม่จบไม่สิ้น กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจึงเป็นได้แค่เพียงฝันค้างเรื่อยมา
เหตุผลหลักของการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้านั้นคือเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว ในการเดินทางขึ้น-ลง เขาจากที่มีเพียงวิธีการเดินเท้าอย่างเดียว และจะสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งแผนโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงล่าสุดนั้น คาดไว้คร่าวๆ ว่า จะก่อสร้างบริเวณจุดบ้านศรีฐาน-หลังแป เพราะเป็นจุดที่ระยะทางสั้นที่สุด และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าบริเวณอื่นๆ โดยระยะความยาวของเคเบิลจะอยู่ที่ประมาณ 3,819 เมตร ซึ่งจะต้องใช้งบในก่อสร้างประมาณ 20 ล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตาม โครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าในปีนี้ก็เป็นอันต้องสะดุด เมื่อนายกรัฐมนตรียังไม่ไฟเขียวอนุญาตให้ดำเนินการ ด้วยเหตุผลที่ว่า เรื่องนี้ยังเร็วเกินไป และจะต้องมีการศึกษาข้อมูลให้รอบด้านอย่างรอบคอบ ทั้งเรื่องของผลกระทบทางธรรมชาติ ผู้ประกอบการ พ่อค้า-แม่ค้าและลูกหาบที่ต้องทำมาหากินในบริเวณนี้ ทำให้โครงการนี้ก็ต้องถูกดองซ้ำอีกรอบ
และก็ไม่มีฝ่ายไหนทั้งภาครัฐและเอกชนออกมาตอบคำถามได้ว่า กระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงในฝันนั้นจะปรากฏรูปร่างออกมาได้เมื่อไหร่ มันเลยไม่ใช่เรื่องแปลกที่ โครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จะกลายเป็นโครงการที่หยิบเอามาเล่าใหม่อยู่เสมอๆ เพื่อผลักดันให้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาล ซึ่งสุดท้ายไม่ว่าจะเสนอไปกี่รัฐบาล ก็ยังได้รับคำตอบเดิมว่า ไม่สร้างและยังไม่ถึงเวลา พร้อมกับสั่งให้ศึกษาผลกระทบ (อีกครั้ง) เลยกลายเป็นวัฏจักรซ้ำๆเดิมๆ ให้เห็นอยู่ทุกครั้งไป
สรรค์สร้าง หรือ ทำลาย ?
แม้โครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงจะมีหลายฝ่ายให้การสนับสนุน โดยเชื่อว่าจะเป็นการพัฒนาการท่องเที่ยว และเกิดประโยชน์ต่อทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว แต่ก็มีบางฝ่ายที่ออกมาคัดค้าน เพราะคิดว่าการมีกระเช้าไฟฟ้า จะเป็นการทำลายธรรมชาติผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ทำลายทัศนียภาพ และที่สำคัญคือทำลายเสน่ห์ของภูกระดึงที่ต้องใช้ความอุตสาหะในการเดินเท้าบนเส้นทางธรรมชาติ เพื่อดื่มด่ำความงดงามของผืนป่าแห่งนี้
“ผมเข้าใจดีถึงความยากลำบากในการขึ้นไปภูกระดึงของผู้อาวุโสหรือผู้พิการ หรือว่าผู้ที่ยังไม่มีความแข็งแรงพอ แม้ว่าตัวผมเองในขณะนี้ครับ แต่ว่าผมพิจารณาว่ามีอุทยานแห่งชาติผืนป่าที่อาจจะไม่เท่าภูกระดึงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าใกล้เคียงในระดับที่ 80 เปอร์เซ็นต์ อย่างเช่น ภูเรือ ภูหินร่องกล้าก็ให้ไปตรงนั้นแทน เราน่าจะรักษาสภาพของธรรมชาติไว้ เพราะว่าการที่มีกระเช้าขึ้นไปมันเป็นการเพิ่มอัตราของนักท่องเที่ยว คูณเข้าไปอีกหลายเท่า จะเป็นการยากที่จะรักษาผืนป่าที่สำคัญของเราไว้ได้”
คำตอบจาก ธีรภาพ โลหิตกุล ผู้ใกล้ชิดธรรมชาติจากการเป็นตากล้องและนักเขียนที่คร่ำหวอดในวงการการท่องเที่ยว ที่ไม่สนับสนุนการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า โดยคิดเห็นว่าการสร้างกระเช้าไฟฟ้าไม่ได้ก่อปัญหาแต่เพียงขณะทำการก่อสร้างเท่านั้น แต่ในระยะยาวเมื่อนักท่องเที่ยวมีจำนวนมากขึ้น ก็เหมือนจะพอกพูนปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ย่ำแย่ขึ้นไปอีก
“เมื่อมีคนขึ้นไปมากขึ้น ก็จะเพิ่มปริมาณขยะ แล้วในบางครั้งธรรมชาติ ก็ไม่ได้เหมาะให้คนขึ้นไปพร้อมๆ กันจำนวนมาก ขณะนี้ที่ยังไม่มีกระเช้า ในช่วงของฤดูการท่องเที่ยว เช่น เดือนธันวาคม มกราคม คนก็ยังแย่งกันขึ้นไปหาที่ตั้งเต็นท์ คนบางส่วนหนึ่งที่เดินล้นออกไปจากเส้นทางธรรมชาติที่วางไว้ ก็ไปทำลายธรรมชาติที่สวยงาม เสียหายไปก็น่าเสียดาย
ฉะนั้นผมมองว่า ปล่อยภูกระดึงไว้ให้เป็นไปตามธรรมชาติ ภูกระดึงก็อาจจะเหมาะกับคนที่อยู่ในวัยหนึ่งที่ขึ้นไปได้ เพราะธรรมชาติควรจะได้รับการพิทักษ์รักษาไว้ก็เพื่อไว้ให้ลูกหลานของเราในอนาคต แล้วก็ผู้ที่ไม่สามารถขึ้นไปได้ ควรจะเสียสละด้วยการไปในที่ที่ถือว่าใกล้เคียงกัน อย่างภูเรือกับหินร่องกล้าที่รถสามารถขับไปถึงได้เลย”
ลุล่วง 3 ทศวรรษ กับโครงการ ‘กระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง’ กับการยึดยื้อซื้อเวลา ชักเข้าชักออกเตะถ่วงของภาครัฐ...ถึงเวลาหรือยังที่จะฟันธงให้แน่ชัดว่า ทำหรือไม่ทำ เพราะอะไร จะได้หมดปัญหาคาใจจนถกเถียงกันไม่มีจุดจบจากฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านเฉกเช่นนี้…
>>>>>>>>>>
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK