xs
xsm
sm
md
lg

ดีเดย์ระบบตรวจจ่ายยาต้านไวรัส 2 เดือน แก้ข้อมูลสนธยาสวัสดิการ ขรก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เร่งเดินหน้านโยบายเอดส์ 3 กองทุน ยึดหลักการให้ยาต้านไวรัส ตามคำแนะนำ WHO และทำข้อมูลการให้บริการยาต้านไวรัส ชี้ ช่วยให้รู้จำนวนผู้ป่วยและตรวจสอบการสั่งจ่ายยาได้ กรมบัญชีกลางขอเวลาพัฒนาอีก 2 เดือน เชื่อแก้ปัญหาข้อมูลสนธยาในระบบสวัสดิการข้าราชการได้
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวถึงนโยบายการบริการผู้ป่วยเอดส์มาตรฐานเดียว 3 กองทุนสุขภาพ ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ว่า ที่ผ่านมา แทบจะไม่มีข้อมูลใดๆ ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี การให้สูตรยา และปริมาณยา ในส่วนของสิทธิสวัสดิการข้าราชการเลย เนื่องจากระบบนี้เป็นแบบปลายเปิด จ่ายตรง แพทย์ก็จะวินิจฉัยและให้ยาตามความเหมาะสม ซึ่งบางกรณีก็อยากให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ลดผลข้างเคียง จึงมีการสั่งจ่ายยาสูตรอื่นนอกเหนือจากสูตรพื้นฐานในบางครั้ง ตรงนี้ไม่ใช่แค่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศ แต่ยังทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงดื้อยากรณีรับประทานยาไม่ติดต่อกัน ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้การรักษาต้องเป็นมาตรฐานเดียวจริงๆ โดยใช้ 2 แนวทางหลักๆ ในการควบคุมการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ทั้ง 3 กองทุน

นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า แนวทางแรก คือ การใช้ไกด์ไลน์ของกรมควบคุมโรคในเรื่องของแนวทางการวินิจฉัยโรค รวมถึงเกณฑ์การให้ยาต้านไวรัสฯ โดยจะให้ยาต้านไวรัส ก็ต่อเมื่อค่าซีดีโฟว์ (CD4) หรือระดับภูมิต้านทานของร่างกายน้อยกว่าหรือเท่ากับ 350 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร (ลบ.มม.) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ได้รับคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก โดยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับยาเร็วขึ้น ลดปัญหาร่างกายทรุดโทรม ทำให้มีชีวิตได้ไม่แตกต่างคนทั่วไป ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าว หลายคนกังวลว่า จะทำได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะในสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เพราะยังไม่มีระบบตรวจสอบ และเป็นระบบเบิกจ่ายตรง จึงนำไปสู่แนวทางที่สอง คือ การใช้ระบบตรวจสอบข้อมูล ที่เรียกว่า โปรแกรมบันทึกข้อมูลการให้บริการยาต้านไวรัสสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ (NAPHA PLUS) ซึ่งปัจจุบันสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และประกันสังคม ใช้ระบบนี้อยู่ ทำให้ทราบจำนวนผู้ป่วย และตรวจสอบได้ว่ามีการให้ยาที่ค่าซีดีโฟว์เมื่อใด และให้ยาสูตรพื้นฐาน หรือให้ยาสูตรดื้อยาไปมากน้อยเพียงใด เป็นต้น ตรงนี้จะทำให้ตรวจสอบการใช้ยาทั้งประเทศได้

ปัญหาคือสิทธิสวัสดิการข้าราชการยังไม่มีระบบข้อมูลตรงนี้ จำเป็นต้องพัฒนา ซึ่งในการประชุมผู้แทนจาก 3 กองทุนที่ผ่านมา ทางกรมบัญชีกลางระบุว่า พร้อมจะพัฒนาระบบรูปแบบดังกล่าวให้เหมือนกัน แต่ขอเวลาในการพัฒนาอีก 1-2 เดือน ซึ่งในอนาคตข้อมูลผู้ป่วยเอดส์ก็จะเป็นรูปธรรมขึ้นทั้งประเทศ ทำให้ทราบจำนวนผู้ป่วยเอดส์ที่อยู่ในระบบการรักษามีเท่าใด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาอย่างเป็นรูปธรรม และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาอีกด้วย เพราะระบบนี้จะตรวจสอบได้หมด” ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น