วันที่เขียนบทความนี้ ยังไม่รู้ผลการพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในเรื่องการปรับเกณฑ์การเริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวี โดยเกณฑ์ใหม่จะเริ่มรักษาเร็วขึ้น ในระดับที่มีเซลเม็ดเลือดขาว ที่ 350 (CD4 350) ในขณะที่เกณฑ์เก่า อยู่ที่ 200 … ผมได้แต่หวังว่า ผลการพิจารณาจะอนุมัติให้ปรับเกณฑ์ได้ เนื่องเพราะว่า การรักษาที่เร็วขึ้น จะส่งผล ต่อการลดความเสี่ยง ลดการเจ็บป่วยด้วยโรคฉวยโอกาส ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเมื่อภูมิคุ้มกันต่ำ โอกาสที่เชื้อโรคต่างๆ ที่แฝงอยู่ในร่างกายจะก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น วัณโรค หรือ ปอดอักเสบจากเชื้อ พีซีพี หรือ เชื้อราเยื่อหุ้มสมอง หรืออีกหลายๆโรค ที่จะตามมาเมื่อรักษาตัวไปในระยะยาว แต่มีงานวิจัยจำนวนมาก ที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อเริ่มรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีไว้ขึ้น จะส่งผลให้ลดความเสี่ยงจากโรคต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น และที่สำคัญ อีกประการหนึ่ง คือ จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันฟื้นตัวเร็วขึ้นกว่าเมื่อเริ่มรักษาช้า การที่ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นได้เร็ว ไปสู่ระดับปกติได้เร็วจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตระยะยาวดีขึ้นมาก
นอกจากลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคและลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้แล้ว การรักษาด้วยยาต้านไวรัส ที่เร็วขึ้น จะส่งผลในการป้องกัน ในทางอ้อมได้อย่างดี หมายความว่า การรณรงค์ให้คนที่ประเมินว่าตนเองมีความเสี่ยง และออกมาตรวจเลือดมากขึ้น เข้าสู่การรักษามากขึ้น จะทำให้คนเหล่านั้น มีพฤติกรรมทางเพศที่ป้องกัน กับคู่ของตนเอง เนื่องเพราะว่าในด้านจิตใจ เมื่อเรารู้ว่าตนเองมีเชื้ออยู่ เราจะรู้สึกระมัดระวังตนเอง ไม่ให้ เอาเชื้อไปให้กับคู่ของตนเอง และในทางการแพทย์ การที่รักษาด้วยยาต้านไวรัส จะทำให้ไวรัสในกระแสเลือดและในน้ำคัดหลั่งต่างๆ ของร่างกาย ลดจำนวนลงมาก ซึ่งเท่ากับลดความเสี่ยงให้กับคนอื่นๆ ที่อาจจะมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อคนนั้นๆ ลงได้มาก
การเริ่มรักษาที่เร็วขึ้น จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการแก้ปัญหาเอดส์ของประเทศ แต่แนวทางนี้จะไม่ได้ผลเลย ถ้าแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องกันไม่เข้าใจ และทำไปในทิศทางตรงข้าม เช่น สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ บริษัท ห้างร้าน บังคับ หรือ แอบตรวจเลือด ก่อนเข้าเรียน ระหว่างเรียน หรือ บังคับตรวจเลือดสมัครเข้าทำงานและการบังคับตรวจเลือดในการตรวจสุขภาพประจำปี ถ้าพบว่าติดเชื้อเอชไอวีจะไม่ให้เรียน ไม่ให้ทำงาน ไม่ให้บวช ซึ่งจะส่งผลให้คนทั่วไป คิดและรู้สึก ว่า การรู้ผลเลือดเป็นผลลบต่ออนาคตตนเอง คนก็จะหลีกเลี่ยงที่จะรู้ ที่จะออกไปตรวจ และอาจจะรู้ตัวอีกที เมื่อเริ่มมีอาการป่วย ทำให้ยากต่อการรักษา และภาพความเจ็บป่วยนี้ จะกลับไปตอกย้ำ ความน่ากลัว การรังเกียจของคนใกล้ชิด ความกลัวที่จะติดต่อ ทำให้เกิดการรังเกียจ ไม่พร้อมจะให้อยู่ร่วมบ้าน ร่วมห้องเรียน ร่วมที่ทำงาน ตามมา
แต่ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันส่งเสริม สร้างความเข้าใจว่า เอดส์เป็นเพียงโรคติดต่อที่ควบคุมได้ และมีช่องทางเฉพาะเพศสัมพันธ์ และการใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน และเมื่อรู้ตัวว่าติดเชื้อแล้ว ถ้าได้รับการรักษาที่เหมาะสม ก็ไม่ต่างอะไรกับการเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาด้วยยาต้านไวรัสไปตลอดชีวิต (ตามองค์ความรู้ที่มีในปี พ.ศ.นี้ ยังไม่อาจหยุดการใช้ยารักษาได้) การบังคับ การแอบตรวจเลือดเอชไอวี เป็นการกระทำที่ ผิด กม.ไม่มีคุณธรรม และไม่ช่วยให้ปัญหาเอดส์ดีขึ้นได้เลย ในทางกลับกัน การส่งเสริมสร้างความเข้าใจ ทำให้เห็นประโยชน์ของการประเมินตนเอง และคิดถึงการตรวจหาการติดเชื้อ ด้วยความสมัครใจของคนๆ นั้น จริงๆ เป็นทิศทางที่สำคัญของการแก้ปัญหาเอดส์ ทั้งในระดับบุคคลของผู้ติดเชื้อคนนั้น และเป็นประโยชน์มหาศาล ในระดับรวมของประเทศ ของโลกนี้ ผมจึงอยากเชิญชวนให้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายรีบหันกลับมา และทบทวนในนโยบาย แนวปฏิบัติของหน่วยงานของตนว่า เรากำลังช่วย หรือ บั่นทอน การแก้ปัญหาเอดส์