รองปลัด สธ.ชี้ 3 กองทุนสุขภาพอยู่ในภาวะบีบ ต้องใช้จ่ายให้คุ้มค่าที่สุด ต้องประเมินอีกระยะว่าจะกระทบโรงพยาบาลหรือไม่ แนะ สธ.จัดสรรงบแบบเหมาเข่ง เริ่มจากงบฯส่งเสริมป้องกันโรค ด้าน สปสช.-สปส.ประสานเสียงไม่รวมกองทุนแน่ แค่พัฒนาให้กลมกลืน
วันนี้ (12 ก.ย.) ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2555 วันที่ 12-14 กันยายน นพ.สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการเสวนาเรื่อง “กองทุนประกันสุขภาพ 3 กองทุน : สิทธิต่างๆ โอกาสรวม/ปัญหาอุปสรรค” ว่า วันนี้กองทุนสุขภาพ 3 กองทุน ทั้งประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการอยู่ในภาวะบีบทั้งหมด คือ พยายามใช้จ่ายให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดกับกองทุน ไม่ต้องการให้นำเงินที่เหลือจากกองทุนตนเองไปใช้โปะให้กับอีกกองทุนหนึ่ง อย่างเช่น สวัสดิการข้าราชการจากการเบิกจ่ายตามจริงกรณีผู้ป่วยในเปลี่ยนเป็นการจ่ายตามการวินิจฉัยโรคร่วม หรือ ดีอาร์จี (DRG)
“ถามว่า กระทบกับหน่วยบริการหรือโรงพยาบาลหรือไม่ อาจจำเป็นต้องบันทึกผลไประยะหนึ่งก่อนจึงจะสามารถระบุผลที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หน่วยบริการต้องใช้จ่ายเงินด้วยความระมัดระวังมากขึ้นให้เกิดผลคุ้มค่าที่สุด รายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยต้องมีการปรับลด เช่น การใช้ยาต้องสมเหตุสมผล ค่าแรงต้องมีความเหมาะสม หากใช้จ่ายด้วยความสมเหตุสมผล มีการบริหารจัดการที่ดี และการเบิกชดเชยค่าบริการสมเหตุสมผลแล้ว ถ้ายังมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงินต้องมาปรับและเคลียร์กัน” นพ.สมชัย กล่าว
นพ.สมชัย กล่าวอีกว่า งบเหมาจ่ายรายหัวที่หน่วยบริการ หรือโรงพยาบาลได้รับจากกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกองทุนประกันสังคมไม่ได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย 100% แต่จะมีการหักกันเงินไว้ก่อน อย่าง กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะหักไว้ 25% เป็นเงินเดือนข้าราชการ สธ.อีก 75% ที่เหลือไม่ได้จ่ายลงมาให้หน่วยบริการทั้งหมด แต่จะจ่ายมาให้เพียงส่วนหนึ่งที่เหลือจะใช้ระบบทยอยจ่าย ซึ่งเป็นระบบที่ยุ่งยากก่อให้เกิดเงินคงค้างอยู่ส่วนกลาง หรือเรียกว่า เงินค้างท่อถึง 1-2 ปี ส่วนตัวจึงเห็นว่าหากเป็นไปได้ควรจ่ายให้ สธ.แบบเหมาเข่งทั้งหมดแล้วมาบริหารจัดการเอง แต่ต้องชี้แจงประชาชนให้ได้ว่าเงินที่สธ.ได้รับจัดสรรมาแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้นนำไปทำอะไรบ้าง
นพ.สมชัย กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นเห็นว่า ส่วนที่จะมอบให้สธ.บริหารจัดการเองได้แบบเต็มๆ คือ ในส่วนของงบส่งเสริมป้องกันโรค ที่ไม่ควรจัดสรรให้แบบรายปีต่อปี เพราะการส่งเสริมป้องกันโรคไม่สามารถประเมินผลได้แบบรายปี ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนิน จึงควรจัดสรรงบให้สธ.เป็นราย 4 ปีโดย สธ.ทำแผนงานชัดเจน อีกทั้งเงินในส่วนนี้แม้ในการของบประมาณของ สปสช.จะได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลในอัตราประชากร 48 ล้านคน แต่เงินส่วนนี้ในทางปฏิบัติเมื่อนำมาใช้ต้องใช้เพื่อส่งเสริมป้องกันโรคคนทั้งประเทศคือ 60 ล้านคน ไม่ได้แยกว่าดูแลแค่ผู้ถือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 9 และ 10 มีเจตนารมย์ในการให้รวม 3 กองทุน และรวมถึงมาตรา 12 กรณีผู้ประสบภัยจากรถยนต์ด้วย ซึ่งโดยหลักการต้องการให้การบริหารจัดการ 3 กองทุนกลมกลืนกันเท่านั้น ไม่ได้รวมกองทุน ซึ่งนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 16 ข้อ จะพบว่าในข้อ 14 กำหนดว่า จะพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพต้องให้ประชาชนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ สะดวกรวดเร็ว และเป็นธรรม และต้องมีการบูรณณาการสิทธิของผู้ป่วยที่พึงได้รับจากระบบสุขภาพต่างๆ หมายความว่า รัฐบาลมีเจตนารมณ์บูรณาการทั้ง 3 กองทุนให้กลมกลืน โดยนายกรัฐมนตรี ย้ำเสมอถึงการสร้างความเสมอภาคการเข้าถึงบริการของประชาชน
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน อดีตรองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า จะไม่มีการรวมกองทุนประกันสุขภาพ 3 กองทุนเข้าเป็นกองทุนเดียวแน่นอน ซึ่งในส่วนของ สปส.ขณะนี้มีเงินของลูกจ้างที่ฝากไว้กับ สปส.ทั้งหมด 940,000 ล้านบาท เป็นเงินต้นของลูกจ้างประมาณ 6 แสนล้าน อีก 2-3 แสนล้านเป็นดอกเบี้ย และเป็นส่วนรักษาพยาบาลประมาณ 8 หมื่นล้าน
“นายกรัฐมนตรี ย้ำเสมอว่า ไม่รวมกองทุน เพียงแต่อยากให้ประชาชนที่ไปรับบริการต้องไม่ถูกถามสิทธิ และหากต้องย้ายสิทธิ ต้องย้ำว่าสิทธิที่ควรต้องได้ต่อเนื่องต้องได้เหมือนเดิม สรุปคือ สิทธิการได้รับประโยชน์ ต้องเป็นไปแนวทางเดียวกัน ซึ่งการทำประกันสังคมก็คล้ายกับสปสช. โดยต้องการป้องกันความยากจนอันเกิดจากการเจ็บป่วย โดยให้เหมาจ่าย และให้รักษาจนสิ้นสุดการรักษา สำหรับวิธีการจ่ายเงินเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งเท่านั้น ขอยืนยันว่า ยึดหลักประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นที่หนึ่ง โดยลูกจ้างต้องได้รับการดูแลโดยไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม” นพ.สุรเดช กล่าว