xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับทราบ 5 จ.มีผู้ป่วยมือเท้าปากสูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.รับทราบพบป่วยโรคมือเท้าปากสูงสุด 5 จ. พะเยา เชียงราย ภูเก็ต สุราษฎร์ ระยอง

วันนี้ (24 ก.ค. 55) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์และความคืบหน้าการป้องกัน ควบคุมโรค มือ เท้า ปาก ชนิดรุนแรงในเด็ก ดังนี้ จากรายงานของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 21 กรกฎาคม 2555 พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ทั่วประเทศ รวม 14,452 ราย ในจำนวนนี้ พบผู้ป่วยสงสัยเป็นโรค มือ เท้า ปาก ที่มีอาการรุนแรงอยู่หลายราย บางรายเสียชีวิตแล้วและกำลังอยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญตามมาตรฐานของระบบเฝ้าระวัง เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ พะเยา เชียงราย ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และ ระยอง ส่วนสถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ในสถานศึกษา ขณะนี้ พบผู้ป่วยในโรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษาในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เช่น กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร ราชบุรี สระแก้ว อุบลราชธานี อำนาจเจริญ โดยหลายโรงเรียนได้ดำเนินการปิดเรียน เพื่อทำความสะอาดและลดการแพร่กระจายเชื้อแล้ว

ข้อมูลจากการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการในประเทศไทย ยังไม่พบการกลายพันธุ์ของเชื้อ และสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อความรุนแรงผิดปกติ ข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรงของอาการกับสายพันธุ์ย่อยที่ตรวจพบได้ ทั้งนี้ได้มีการเฝ้าระวังทั้งทางห้องปฏิบัติการและอาการผู้ป่วยอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ขณะนี้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รายงานว่า ตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์มีอัตราแพร่ระบาดที่ลดลง โดยพิจารณาจากจำนวนผู้ป่วยเมื่อเทียบกับในช่วงแรกของการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าแนวโน้มของโรคจะยังคงมีการระบาดต่อไปอีกประมาณ 6 สัปดาห์
 

ความคืบหน้าการป้องกันควบคุมโรคของประเทศไทย

1. เร่งรัดและดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคมือ เท้า ปาก อย่างใกล้ชิด โดยมีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (Surveillance Rapid Response Team ; SRRT) ปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมงทั้งประเทศกว่า 1,000 ทีม
2. ให้ดำเนินงานที่เข้มข้นใน 2 มาตรการคือ (1) ให้ควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโดยเร็วที่สุด โดยประสานงานกับโรงเรียนอนุบาล โรงเรียนประถมศึกษา และศูนย์เด็กเล็กที่อยู่ในพื้นที่เน้นเรื่องการทำความสะอาดป้องกันการแพร่เชื้อ หากพบเด็กป่วยขอให้หยุดเรียนและกลับไปพักที่บ้านให้เด็กหมั่นล้างมือ กินอาหารที่สุกใหม่ และร้อน (2) ให้ดูแลรักษาผู้ป่วยเพื่อป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุดโดยเน้นย้ำผู้ปกครองทุกคน หากพบเด็กมีไข้สูง 2 วัน ซึมลงหรืออาเจียน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
3. กำชับแพทย์ในสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ให้ระมัดระวังภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรค ทั้งนี้ให้รวมถึงผู้ป่วยที่ไม่มีตุ่มขึ้นปาก หรือฝ่ามือ ฝ่าเท้า
4. ทำการประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทาง เพื่อให้ความรู้เรื่องโรคมือ เท้า ปาก แก่ประชาชน เช่นเปิดสายด่วน 1422 ของกรมควบคุมโรคตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 16 - 23 กรกฎาคม 2555 มีประชาชนสอบถามทั้งหมด 785 สาย เฉลี่ยชั่วโมงละ 5 สาย
5. ให้จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากกว่า 10 ราย ต่อวัน เปิดศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด (war room) โดยเรียนเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งทุกจังหวัดได้ดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่ และมีการดำเนินการเพื่อจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด (war room) แล้วหลายจังหวัด
6. ประชุมผู้เชี่ยวชาญทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเพื่อทบทวนมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 โดยเน้นการเฝ้าระวังโรค การตรวจทางห้องปฏิบัติการ การวินิจฉัยและดูแลรักษาพยาบาล การป้องกันควบคุมโรค และ การสื่อสารความเสี่ยง เป็นต้น
7. กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมรณรงค์ “ร่วมเฝ้าระวังและขจัดโรค มือ เท้า ปาก” โดยมีตัวแทนนักเรียน ครู ผู้ปกครอง เข้าร่วมงานแถลงข่าวพร้อมรับมอบคู่มือและชุดอุปกรณ์ป้องกันโรคมือ เท้า ปากให้กับโรงเรียนนำไปทำความสะอาด เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 โดยรณรงค์ทำความสะอาด “Big cleaning day” ในสถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อป้องกันโรคมือ เท้า ปาก
กำลังโหลดความคิดเห็น