xs
xsm
sm
md
lg

ยันไวรัสไม่กลายพันธุ์ พบผู้ใหญ่ป่วยมือเท้าปาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กรมควบคุมโรคยันไวรัสโรคมือเท้าปากไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่และไม่กลายพันธุ์ คาดอีก 4-6 สัปดาห์อัตราการป่วยลดลง แนะประชาชนอย่าตื่นตระหนก ยันเด็กตายรายแรกที่ รพ.นพรัตน์ราชธานี ไม่ใช่ด้วยโรคนี้ ล่าสุดพบผู้ใหญ่ป่วยแล้ว คาดติดเชื้อจากเด็ก กทม.ส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง หลังประชาชนตื่นกลัว

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ไม่อยากให้ตื่นตระหนกเกี่ยวกับเชื้อไวรัสมือเท้าปาก เพราะเชื้อนี้ไม่ใช่เชื้อใหม่ และไม่มีการกลายพันธุ์ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเชื้อไวรัสมือเท้าปากในปีนี้ คือ ค็อกซากี A6 และเอนเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์ B5 เป็นเชื้อที่เคยพบอยู่ก่อน แม้แต่เอนเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์ C4 ที่พบในเวียดนามก็เคยพบในไทย แต่ไม่รุนแรงเช่นกัน เพราะสามารถควบคุมได้ สรุป ก็คือ ในปีนี้เชื้อไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิด ส่วนที่พบจำนวนมากในช่วง 1-2 เดือนนี้ เพราะเป็นช่วงก่อโรค เนื่องจากเป็นฤดูฝน มีความอับชื้น ระบายอากาศไม่ดี ทำให้ในแหล่งชุมชน หรือแหล่งคนจำนวนมาก โรงเรียน อนุบาล ศูนย์เด็กเล็กมีโอกาสติดเชื้อ และแพร่กระจายสูง

ส่วนกรณีที่เชื้อมีการเปลี่ยนแปลงและนำไปสู่การเปลี่ยนกลุ่มการรับเชื้อจากเด็กเล็กไปเป็นเด็กโตนั้น ข้อเท็จจริงต้องบอกว่า เชื้อไวรัสมือเท้าปากจะติดคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งในผู้ใหญ่ส่วนใหญ่จะมีภูมิคุ้มกันแล้ว รวมทั้งคนที่เคยติดเชื้อแล้ว ก็จะไม่เป็นอีก แต่ในกรณีข่าวที่พบปิดโรงเรียนประถมวัย ต้องดูว่าเด็กกลุ่มดังกล่าวอายุเท่าใด ซึ่งหากต่ำกว่า 12 ปี ก็ถือว่าปกติ เพราะอยู่ในข่ายไม่มีภูมิต่อเชื้อ

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคอุบัติใหม่ ในฐานะโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ระบาดของโรค พบผู้ป่วย 13,918 คน ถือว่าอยู่ในช่วงระบาดสูงสุด เชื่อว่าจะระบาดต่อเนื่องอีก 4-6 สัปดาห์ จากนั้น อัตราการป่วยจะค่อยๆ ลดลง ขอประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนก อย่างไรก็ดี ขอให้ผู้ปกครองหมั่นสังเกตบุตรหลาน หากมีไข้สูงเกิน 3 วัน คลื่นไส้ มีตุ่มน้ำตามฝ่ามือ เท้า ควรพบแพทย์ทันที สิ่งสำคัญต้องดูแลสุขอนามัยของเด็กที่ต้องสะอาดและปลอดภัย

**ไม่ฟันธงเด็กตายเพราะมือ เท้า ปาก

จากกรณีที่มีกระแสข่าวพบเด็กอายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง เสียชีวิตจากโรคมือเท้าปาก ที่ รพ.นพรัตนราชธานีนั้น นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี กล่าวว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเด็กรายดังกล่าวเสียชีวิตจากโรคมือเท้าปากหรือไม่ ยังต้องรอผลการตรวจทางโลหิตวิทยา ซึ่งทาง รพ.ได้ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ เพื่อยืนยันผลอีกครั้งแล้ว คาดว่า จะได้ผลยืนยันในสัปดาห์หน้านี้ แต่เบื้องต้น เด็กได้เสียชีวิตจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไม่พบผื่นตามตัวเด็ก ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตกใจ

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับผู้เสียชีวิตที่ต้องสงสัยว่าเสียชีวิตจากโรคมือเท้าปากเป็นรายแรกของไทยในปีนี้ ผลตรวจระดับปฏิบัติการ (PCR) จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ไม่ได้เป็นการเสียชีวิตจากโรคมือเท้าปากแต่อย่างใด ซึ่งจำเป็นต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างละเอียด โดยต้องใช้เวลาประมาณ 5 วัน อีกครั้ง อีกทั้งยังไม่มีอาการบ่งชี้ที่แน่ชัดว่า เกิดจากโรคมือเท้าปาก ส่วนที่สงสัยว่าเป็นโรคเฮอร์แปงไจน่า ที่มีลักษณะคล้ายมือเท้าปากนั้น ก็ไม่ใช่เช่นกัน

**พบผู้ใหญ่ป่วยมือเท้าปาก

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่คลินิกนอกเวลา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ว่า มีผู้ปกครองทยอยพาบุตรหลานเข้ามาตรวจ หลังโรงเรียนหลายแห่งประกาศปิดเรียนจากโรคมือเท้าปาก ซึ่งส่วนใหญ่เด็กที่มารับการรักษาเป็นเด็กประถมและเด็กก่อนวัยเรียน อายุประมาณ 3 ปี

นพ.นริศ วารณะวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญโรคติดเชื้อ รพ.เด็ก กล่าวว่า ขณะนี้พบเด็กป่วยทยอยพบแพทย์มากขึ้น และยังพบว่า มีผู้ปกครองป่วยด้วยโรคมือเท้าปากด้วย โดยติดเชื้อจากเด็ก ซึ่งมีอาการตุ่มน้ำใสขึ้นตามมือ มีไข้ และเจ็บคอ แต่ไม่รุนแรง จึงเตือนให้ผู้ปกครองที่ใกล้ชิดเด็กต้องล้างมือให้สะอาดเช่นเดียวกันเพื่อป้องกันโรค ทั้งนี้ ข้อสมมติฐานที่เคยระบุว่าโรคมือเท้าปากจะพบได้เฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และพบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีนั้น อาจไม่เสมอไป เพราะผู้ใหญ่ที่ไม่เคยป่วยมาก่อนก็อาจติดเชื้อได้

**กทม. ส่งเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง

วันเดียวกันนี้ พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) มอบนโยบายเกี่ยวกับการควบคุม ป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคมือ เท้า ปาก แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัด อาทิ สำนักงานเขต 50 เขต ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม. โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ดำเนินการอย่างเข้มงวดจริงจังและเร่งด่วน เนื่องจากมีประชาชนเกิดความวิตกเกี่ยวกับโรคดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

พญ.มาลินีกล่าวว่า กทม. สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งจะดำเนินการเช่นเดียวกับการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และกทม. จะดำเนินภายใต้มาตรการการเฝ้าระวังโรค คัดแยกผู้ติดเชื้อออกทันทีที่ตรวจพบ และการรักษาความสะอาดพื้นที่ เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของเชื้อ โดยจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษในพื้นที่ที่มีเด็กมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก อาทิ ศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน โรงเรียนอนุบาล และสวนสนุกในห้างสรรพสินค้า อีกทั้งมอบหมายให้ทุกสำนักงานเขตจัดประชุม ประเมินผล และติดตามความคืบหน้าเป็นระยะ หากโรงเรียนใดพบเด็กติดเชื้อให้ทางโรงเรียนหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครู และผู้ปกครอง ก่อนปิดโรงเรียน

**ยันไม่มีร.ร.ปกปิดข้อมูล

นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด โดยจะจัดส่งแพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญไปยังโรงเรียนที่มีปัญหาทันที เพื่อดูแลนักเรียนที่ป่วย และทำความสะอาด ฆ่าเชื้อภายในโรงเรียน ส่วนการปิดโรงเรียนที่พบการระบาดของโรคให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหาร และยืนยันว่าไม่มีโรงเรียนใดตั้งใจจะปกปิดข้อมูลในเรื่องนี้ ผู้บริหาร โรงเรียนทุกแห่งพยายามดูแลแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มที่ แต่การจัดการเรียนการสอนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้น โรงเรียนจึงพยายามจะจัดการเรียนการสอนต่อไปให้ได้ก่อน ไม่ใช่เป็นความจงใจที่จะปกปิดข้อมูล

ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้แจ้งทาง SMS ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ให้เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้คอยประสานงาน รับฟังข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงให้ปฏิบัติตาม 6 มาตรการในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคมือ เท้า ปากของ สพฐ.ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น