xs
xsm
sm
md
lg

สธ.จับมือ ศธ.จัดบิ๊กคลีนนิงเดย์ รณรงค์ป้องกันโรคมือเท้าปากในโรงเรียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระทรวงสาธารณสุข จับมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และ กรุงเทพมหานคร ร่วมรณรงค์ และให้ความรู้ในการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน ให้กับนักเรียน กว่า 500 คน พร้อมจัดทำชุดความรู้เรื่อง โรค มือ เท้า ปาก และอุปกรณ์ป้องกันโรค มอบให้กับนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย ที่กระทรวงศึกษาธิการ

วันนี้ (20 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วย นายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดการรณรงค์กิจกรรมบิ๊กคลีนนิงเดย์ (Big Cleaning Day) ร่วมกับ ดร.สุชาติ ธาดาดำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ แพทย์หญิง มนทิรา ทองสาริ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความตระหนักในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคมือเท้าปากในสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งในวันนี้มีโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเข้าร่วม 40 แห่ง และมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 500 คน โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำชุดความรู้เรื่องโรคมือเท้าปากจำนวน 200,000 ชุด โปสเตอร์ 100,000 แผ่น แผ่นพับความรู้เรื่องโรคและการป้องกัน 150,000 แผ่น และอุปกรณ์ป้องกันโรคประกอบด้วย เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย นำมามอบให้โรงเรียนและนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการป้องกันควบคุมโรคดังกล่าว

นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ในหลายพื้นที่มีรายงานผู้ป่วยโรคมือเท้าปากอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่พบในสถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษา ประชาชนมีความตื่นตัวและร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขเป็นอย่างดี ล่าสุดสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานผู้ป่วยสะสมตั้งแต่มกราคม-16 กรกฎาคม 2555 พบผู้ป่วยกระจายทุกจังหวัดรวม 13,918 ราย ร้อยละ 94 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต พบได้น้อยในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี เช่น การล้างมือด้วยน้ำและสบู่เป็นประจำหลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก และก่อนการรับประทานอาหารหรือป้อนอาหารเด็ก รวมถึงการไม่คลุกคลีใกล้ชิด ใช้ภาชนะอาหารหรือของใช้ร่วมกับผู้ป่วย และการรักษาสุขลักษณะ ได้แก่ การรักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อม ห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องครัวให้ถูกสุขลักษณะ

นายวิทยา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใย กำชับให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค กำชับแพทย์ให้ระมัดระวังภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรค รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องโรคมือเท้าปากแก่ประชาชน เน้นการรักษาสุขอนามัย ล้างมือบ่อยๆ หากมีผู้ป่วยสงสัยโรคมือเท้าปาก ที่มีไข้สูง ซึม ชัก หายใจหอบเหนื่อย ให้รีบพาไปพบแพทย์ และให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัด กรณีพบผู้ป่วยมากกว่า 10 รายต่อวัน

ทั้งนี้ จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญ คาดว่า สถานการณ์การป่วยโรคมือเท้าปาก อาจต่อเนื่องไปถึงเดือนกันยายน กระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย ร่วมเฝ้าระวังป้องกันควบคุมการระบาดของโรค เน้นหนักที่ศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก สถานศึกษาระดับประถมศึกษาลงมา และในชุมชน เน้นสุขอนามัยส่วนบุคคลและทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ทุกวัน หากพบเด็กป่วย ขอให้ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก ปฏิบัติตาม 3 มาตรการดังนี้1.แจ้งการระบาดที่หน่วยงานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปสอบสวน ควบคุมโรค ให้คำแนะนำ 2.เผยแพร่คำแนะนำความรู้เรื่องโรคแก่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน ส่งเสริมพฤติกรรมป้องกันโรคติดต่อ เช่นการล้างมือ ความสะอาดของสภาพแวดล้อม แยกของใช้ไม่ให้ปะปนกัน 3.เฝ้าระวังโรค โดยให้ตรวจเด็กทุกคน หากพบคนใด มีอาการโรคมือเท้าปาก ต้องรีบแยกออกและให้หยุดเรียน 7-10 วัน หรือจนกว่าจะหายป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปยังเด็กคนอื่นๆ

สำหรับการพิจารณาปิดชั้นเรียนนั้น จะทำในกรณีที่มีเด็กป่วยมากกว่า 2ราย และหากมีการป่วยกระจายในหลายชั้นเรียนแนะนำให้ปิดโรงเรียนเป็นเวลา 5-7 วัน พร้อมทำความสะอาดอุปกรณ์รับประทานอาหารของเล่นเด็กและสถานที่ต่างๆ ได้แก่ สระว่ายน้ำ ห้องน้ำ ห้องส้วม ครัว โรงอาหาร บริเวณที่เล่นของเด็ก สนามเด็กเล่น โดยใช้น้ำยาฟอกขาว 20 ซีซี ต่อน้ำเปล่า 1 ลิตร หรือน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ตามบ้านเรือน แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ส่วนสระว่ายน้ำต้องมีระดับคลอรีนไม่ต่ำกว่ามาตรฐานคืออย่างน้อย 1 มิลลิกรัมต่อลิตร และต้องหยุดใช้เครื่องปรับอากาศ เปิดประตู หน้าต่าง ผ้าม่าน ให้แสงแดดส่องให้ทั่วถึงห้อง เชื้อไวรัสโรคมือเท้าปากจะถูกทำลายด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด ในสภาพที่แห้งเชื้อจะมีชีวิตอยู่ไม่นาน หรือถูกทำลายโดยการต้มที่อุณหภูมิความร้อน 50-60 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที หรือด้วยน้ำยาซักล้างทั่วไป

ส่วนการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีโรคมือเท้าปากระบาด ยังไม่มีข้อห้ามการเดินทางระหว่างประเทศ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ หากจำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีรายงานว่า กำลังเกิดโรคระบาด ผู้ปกครองเด็กควรดูแลอย่างใกล้ชิด รักษาสุขอนามัยที่ดี เช่น ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และหลังการขับถ่าย และไม่ควรพาเด็กไปสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ตลาด และห้างสรรพสินค้า เป็นต้น และควรอยู่ในที่ที่มีระบายถ่ายเทอากาศได้ดี










กำลังโหลดความคิดเห็น