xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ไม่วิตก “โรคมือเท้าปาก” กำชับทุกพื้นที่ระวังเข้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.มั่นใจ รับมือโรคมือเท้าปากได้ บอกเชื้อในไทยเป็นสายพันธุ์ไม่รุนแรง ขอผู้ปกครองอย่าตื่นตระหนก สั่ง สสจ.-รพ.ทุกพื้นที่เฝ้าระวัง พร้อมกำชับกุมารแพทย์ตรวจโรคให้ละเอียด แนะศูนย์เด็กเล็ก สถานศึกษา วัดไข้ สังเกตตุ่มพองมือเท้าปากเด็กทุกเช้า ดูแลความสะอาดสถานที่ ของเล่นของใช้เด็กให้สะอาด และให้เด็กล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง

วันนี้ (10 ก.ค.) นายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเด็กกัมพูชาป่วยและเสียชีวิตจากโรคมือเท้าปากประมาณ 64 ราย ตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 เป็นต้นมา โดยผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าเกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 ซึ่งเป็นชนิดรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้นั้น ว่า สถานการณ์โรคมือเท้าปากในไทยยังไม่น่าวิตก เพราะเป็น 1 ใน 57 โรคที่ สธ.เฝ้าระวังต่อเนื่องทุกปี โดยในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่ 1 มกราคม - 1 กรกฎาคม 2555 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก 10,813 ราย ร้อยละ 72 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี และไม่มีผู้เสียชีวิต โดยเป็นการป่วยแบบประปรายกระจายหลายจังหวัด ยังไม่พบการระบาดของโรคเป็นกลุ่ม

“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการตรวจเชื้อ พบว่า เกิดจากเชื้อ 2 ชนิด คือ คอกซากี เอ16 (Coxsackie A16) และเอ็นเทอโรไวรัส 71 (Entero Virus 71) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ และที่พบในไทยเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง นอกจากนี้ ในเด็กที่เสียชีวิตในกัมพูชา พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในพนมเปญด้านประเทศเวียดนาม และพบส่วนน้อยประมาณ 5 ราย อยู่ที่เสียมเรียบ จึงขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กไม่ต้องตื่นตระหนก หรือวิตกกังวลมากเกินไป สธ.จะติดตามสถานการณ์โรคอย่างใกล้ชิด และประสานกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น ศูนย์ป้องกันควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (ซีดีซี) และองค์การอนามัยโลกอย่างต่อเนื่อง” ปลัด สธ.กล่าว

นายแพทย์ ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ปีนี้ฝนตกชุกมาก อากาศเย็นและชื้น มีแนวโน้มอาจทำให้พบผู้ป่วยโรคนี้มาก ซึ่งขณะนี้มีรายงานผู้ป่วยในหลายจังหวัดเพิ่มขึ้น จึงได้ทำหนังสือสั่งการด่วน กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ และประสานกับ กทม.เฝ้าระวังโรคนี้อย่างต่อเนื่อง หากมีผู้ป่วยให้ทำการควบคุมป้องกันโรคโดยเร็วที่สุด และกำชับทีมแพทย์โรงพยาบาลทุกแห่ง โดยเฉพาะกุมารแพทย์ให้ตรวจโรคอย่างละเอียดตามมาตรฐานการรักษา เพราะโรคนี้หากตรวจพบและรักษาได้เร็วจะลดความรุนแรงได้ นอกจากนี้ ยังได้ทำหนังสือขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่รับผิดชอบดูแลศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และสถานศึกษา โรงเรียนอนุบาลและประถมศึกษาในพื้นที่ ขอให้ดูแลความสะอาดของสถานที่ ของเล่น ของใช้เด็กให้สะอาด ล้างมือฟอกสบู่หลังสัมผัสสิ่งของ หลังเข้าห้องน้ำห้องส้วมทุกครั้ง ซึ่งจะช่วยขจัดเชื้อโรคได้ถึงร้อยละ 80 โดยเชื้อโรคมือเท้าปากจะอยู่ในอุจจาระของเด็กที่ป่วยได้นานถึง 6 สัปดาห์ และติดมากับมือ ปนเปื้อนในอาหาร น้ำ หรือของเล่น และขอให้ตรวจวัดไข้ ดูตุ่มพองตามมือ เท้า หรือในปากของเด็กทุกเช้า หากพบว่าเด็กมีไข้สูงอย่างน้อย 2 วัน หรือไข้สูงร่วมกับมีแผลในปาก หรือมีแผลที่มือ เท้า หรือเด็กมีอาการซึม หอบเหนื่อย หรือดูแล้วเด็กมีอาการแย่ลง จึงแจ้งผู้ปกครองให้พาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดอยู่บ้านจนกว่าจะหาย และขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ เพื่อควบคุมโรคไม่ให้ติดไปยังเด็กคนอื่นๆ

“สำหรับผู้ปกครอง ศูนย์เด็กเล็ก หรือสถานศึกษาที่พบเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ขอให้ทำความสะอาดพื้นผิวที่เด็กสัมผัส เช่น พื้นอาคาร ผนัง ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ด้วยน้ำยาที่มีส่วนผสมของน้ำยาฟอกผ้าขาวอย่างถูกวิธี ส่วนของเล่นที่เด็กอาจเอาเข้าปาก ขอให้ล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกตามปกติแล้วผึ่งแดด ก็จะสามารถฆ่าเชื้อได้ และขอให้กำจัดอุจจาระเด็กที่ป่วยอย่างถูกวิธี โดยเทลงส้วม หรือกรณีใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปขอให้ใส่ลงในถุงพลาสติกและมัดปากก่อนทิ้งลงถังขยะ ดูแลเรื่องอาหารให้สะอาด และล้างมือให้บ่อยขึ้น” ปลัด สธ.กล่าว

ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า หากพบว่ามีเด็กป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก ในห้องเรียนเกิน 2 คนให้ปิดห้องเรียนนั้นแล้วทำความสะอาด หากพบผู้ป่วยในระดับชั้นเรียนเดียวกันเกิน 3 คน ต้องปิดการเรียนการสอนทั้งระดับชั้น และหากพบผู้ป่วยกระจายในระดับชั้นเรียนต่างๆเกิน 5 ห้องเรียน จะต้องปิดสถานศึกษาชั่วคราว (ประมาณ 5-7 วัน) เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดกลุ่มใหญ่ หลังจากนั้นควรทำความสะอาดโรงเรียนอย่างละเอียดทันทีเพื่อฆ่าเชื้อโรค ขณะเดียวกันในโรงเรียนจะต้องสอนให้เด็กล้างมือให้ถูกวิธี เพราะเชื้อโรคจะอยู่ในอุจจาระของเด็กถ้าไม่ทำความสะอาด อาจได้รับเชื้อเข้าสู่ร่างกายเมื่อเด็กจับอาหารเข้าปาก

“โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่ไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวดในรายที่มีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กควรดูแลอย่างใกล้ชิดเช็ดตัวเด็กที่ป่วยเพื่อลดไข้เป็นระยะ รับประทานอาหารอ่อนๆ นอนพักผ่อนมากๆ หมั่นดูแลความสะอาดเสมอ และแนะนำให้เด็กล้างมือที่สะอาดด้วยน้ำและสบู่ให้ถูกวิธีทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมด้วย” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

 

กำลังโหลดความคิดเห็น