ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - 2 ศูนย์เด็กเล็กเชียงใหม่หยุดทำการเรียนการสอนหลังพบมีเด็กป่วยมือเท้าปาก ด้าน สสจ.เชียงใหม่แจงทั้งสองแห่งปิดเองเพื่อความปลอดภัย ระบุกำหนดมาตรการแล้วให้ทุกโรงเรียนเน้นทำความสะอาด-ตรวจหาเด็กป่วยทุกเช้า-กินร้อนช้อนกลาง-ล้างมือ ยันเชื้อโรคไม่ใช่ตัวที่รุนแรง มั่นใจยังคุมสถานการณ์ได้
วันนี้ (19 ก.ค.) นายแพทย์วัฒนา กาญจนกามล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์โรคมือ เท้า ปากของจังหวัดเชียงใหม่ว่า นับตั้งแต่เดือน ม.ค.จนถึงขณะนี้มีรายงานผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 452 ราย ขณะที่วานนี้ (18 ก.ค.) ได้รับรายงานว่ามีศูนย์เด็กเล็ก 2 แห่งได้หยุดการทำการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราว หลังจากพบว่ามีเด็กนักเรียนป่วยด้วยโรคดังกล่าว ได้แก่ ศูนย์เด็กเล็กโรงเรียนสารสาสน์ และโรงเรียนดรุณนิมิต โดยที่ศูนย์เด็กเล็กโรงเรียนสารสาสน์มีนักเรียนป่วยรวม 7 ราย ส่วนที่โรงเรียนดรุณนิมิตพบผู้ป่วยประปราย
สำหรับมาตรการในการป้องกันนั้น ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้นำไปยังโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กต่างๆ แล้วว่า หากพบว่ามีนักเรียนป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่ 5 รายขึ้นไป ให้ทางโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็กสามารถตัดสินใจได้ทันทีว่าจะหยุดการทำการเรียนการสอนหรือจะยังคงเปิดให้บริการต่อไป
ขณะเดียวกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยังได้กำหนดมาตรการเชิงรุกในการป้องกันโรค โดยแจ้งไปยังศูนย์เด็กเล็กซึ่งมีอยู่ประมาณ 400 แห่งทั่วทั้งจังหวัดเชียงใหม่ให้เน้นการดำเนินการใน 3 เรื่อง
ประกอบด้วย 1. ให้ทำความสะอาดภายในบริเวณโรงเรียน รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายหลังจากเลิกเรียนทุกวัน จนกว่าการระบาดของโรคจะหยุดลง 2. จัดให้มีการตรวจคัดกรองนักเรียนก่อนเข้าชั้นเรียนทุกเช้า หากพบว่ามีเด็กที่เป็นไข้หรือต้องสงสัยว่าจะป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้ติดต่อผู้ปกครองให้มารับตัวเด็กเพื่อนำไปพบแพทย์ทันที และ 3. พยายามดูแลรักษาสุขภาพของนักเรียนให้ถูกสุขลักษณะ กินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ใช้ช้อนกลาง ละล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง
นายแพทย์วัฒนากล่าวว่า จากการออกตรวจเยี่ยมศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนต่างๆ หลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าต่างมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือการระบาดของโรคมือ เท้า ปากไว้แล้ว หากพบว่ามีเด็กที่ต้องสงสัยว่าจะป่วยจะมีการแจ้งผู้ปกครองให้มารับเด็กไปพบแพทย์ทันที
รวมทั้งยังให้ข้อมูลแก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตามความเป็นจริงโดยไม่มีการปิดบัง ส่วนกรณีของศูนย์เด็กเล็ก 2 แห่งที่หยุดทำการการเรียนการสอนนั้นเป็นการตัดสินใจของทั้งสองแห่งเอง ซึ่งตามมาตรการจะมีการหยุดทำการเรียนการสอนรวม 7 วัน และในระหว่างนั้นจะมีการทำความสะอาดภายในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่มีอยู่ให้หมดไป
ทั้งนี้ นายแพทย์วัฒนาเปิดเผยว่า ตัวเลขผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวน 452 รายนั้น โดยปกติจะมีการรายงานการพบผู้ป่วยเข้ามาวันละ 3-4 ราย แต่เฉพาะในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค.พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยเกิน 100 รายทุกเดือน ส่วนกลุ่มผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 1-4 ปีมากที่สุดถึงร้อยละ 90 และพบว่ามีบางส่วนที่หยุดพักอยู่กับบ้านแต่กลับเป็นพาหะนำเชื้อไปติดต่อยังพี่น้องซึ่งทำให้เชื้อกระจายต่อไปยังโรงเรียนอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ถือว่าสถานการณ์ของโรคยังไม่น่าหนักใจ เพราะเชื้อโรคที่มีการระบาดไม่ใช่สายพันธุ์ที่มีความรุนแรงเหมือนกับที่ระบาดในประเทศกัมพูชา อีกทั้งโรคดังกล่าวยังมีการระบาดในประเทศไทยมานานนับ 10 ปีแล้ว เพียงแต่ในปีนี้ยอมรับว่าโรคมือ เท้า ปากมีการระบาดเร็วขึ้นกว่าปกติ จากเดิมที่มักจะระบาดในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. แต่กลับเริ่มระบาดในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค.แทน
แต่ทั้งนี้พบว่า การระบาดในจังหวัดเชียงใหม่นั้นพบเฉพาะในอำเภอใหญ่ๆ ที่มีประชากรมาก โดยอำเภอเมือง อำเภอจอมทอง อำเภอสันทราย และอำเภอดอยสะเก็ด เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคมือ เท้า ปากมากที่สุด ส่วนอำเภออมก๋อย และกัลยานิวัฒนา ยังไม่พบผู้ป่วยแต่อย่างใด
ทั้งนี้ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ระบุด้วยว่า หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังได้มีการวางระบบเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนแล้ว โดยหากพบว่ามีเด็กป่วย จะมีกุมารแพทย์คอยให้คำปรึกษาและดูแลอาการตั้งแต่ในระดับโรงพยาบาลชุมชน รวมไปถึงที่โรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ที่พร้อมจะให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างดีที่สุดและจะไม่ให้เกิดการเสียชีวิตขึ้น
นอกจากนี้ ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังได้เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขได้ทำความเข้าใจกับสถานศึกษาต่างๆ ว่าโรคนี้ไม่ได้รุนแรง รวมทั้งกำชับให้ทุกโรงเรียนดำเนินมาตรการที่แนะนำไว้