xs
xsm
sm
md
lg

สธ.คุมคอตีบที่ด่านซ้ายได้แล้ว แนะพาเด็กฉีดยาตามกำหนด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วิทยา” ยันคุมโรคคอตีบ ใน อ.ด่านซ้าย จ.เลย ได้แล้ว แนะพาเด็กฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามที่ สธ.กำหนด ด้าน อธิบดี คร.แนะ ประชาชนต้องป้องกันตนเอง หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น หากพบอาการป่วยคล้ายอาการโรคคอตีบให้รีบพบแพทย์ทันที ด้าน สสจ.เลย เผย ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร้วเข้าพื้นที่แล้ว ไม่พบผู้ป่วยใหม่เพิ่ม
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีพบผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยโรคคอตีบ ที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ว่า ได้กำชับให้กรมควบคุมโรค (คร.) ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ร่วมกับทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เลย และสำนักงานควบคุมโรคเขต เพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดโรคคอตีบ โดยเร็วที่สุด โดยได้รับรายงานจาก สสจ.เลย ว่า ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยทั้งหมด 4 ราย เสียชีวิต 2 ราย ในพื้นที่ของ อ.ด่านซ้าย 3 ตำบลใน 4 หมู่บ้าน ขณะนี้ควบคุมสถานการณ์ได้ทั้งหมดแล้ว

นายวิทยา กล่าวต่อว่า โรคคอตีบเป็นโรคเดิมที่พบมานาน แต่ไม่บ่อย และประเทศไทยสามารถควบคุมได้ เนื่องจากมีวัคซีนป้องกันโรคบรรจุอยู่ในชุดวัคซีนพื้นฐาน ฉีดให้เด็กไทยทุกคนฟรี ตั้งแต่อายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน และกระตุ้นอีก 3 ครั้งเมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง 4 ปี และ 12 ปี หรือกำลังเรียนชั้น ป.6 อย่างไรก็ตาม โรคคอตีบมีโอกาสเกิดได้ในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก ดังนั้น จึงขอแนะนำให้พาเด็กไปรับการฉีดวัคซีนตามที่ สธ.กำหนด และต้องฉีดให้ครบตามจำนวน ซึ่งจะมีผลป้องกันไม่ให้ป่วยจากโรคนี้ หากเลยเวลานัดขอให้พาไปปรึกษาแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ทั้งนี้ ได้กำชับให้ สสจ.ทั่วประเทศ ตรวจสอบความครอบคลุมการได้รับวัคซีนพื้นฐานให้ได้ 100%

ด้าน นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคคอตีบ (Diphtheria) เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินทายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อ ว่า คอรีนแบคทีเรียม ดิพทีเรีย (Corynebacterium Diphtheria) เชื้อโรคจะอยู่ในลำคอของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา และติดต่อทางการไอจาม อาการป่วยจะปรากฏหลังได้รับเชื้อประมาณ 2-5 วัน โดยจะมีไข้ต่ำๆ คล้ายไข้หวัด และมีไอเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร กลืนลำบาก ลักษณะพิเศษคือ จะมีแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นที่ทอนซิลทั้ง 2 ข้าง และลิ้นไก่ ซึ่งเป็นผลมาจากเนื้อเยื่อถูกทำลายจากพิษเชื้อโรค ทำให้เนื้อตาย ในรายที่มีอาการรุนแรง จะทำให้ทางเดินหายใจตีบตัน หายใจลำบาก กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และปลายประสาทอักเสบ ทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต อาจเสียชีวิตได้

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า การป้องกันโรคคอตีบ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วย ขอให้ป้องกันตัวเอง โดยหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีคนแออัดหนาแน่น ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ หากป่วยเป็นไข้หวัดให้คาดหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปติดคนอื่น ส่วนผู้ที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วย ขอให้นำข้าวของเครื่องใช้ของผู้ป่วย เช่น แก้วน้ำ จาน ช้อน ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ทำความสะอาดโดยซัก ล้าง และนำไปต้มฆ่าเชื้อโรค แต่หากประชาชนที่มีอาการป่วยดังกล่าว ขอให้ไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้การรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะป้องกันการเสียชีวิตได้ เนื่องจากโรงพยาบาลทุกแห่ง มียาปฏิชีวนะรักษาและใช้ได้ผลดี

นพ.วิวรรธน์ ก่อวิริยกมล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเลย กล่าวว่า พื้นที่อำเภอด่านซ้าย ที่พบผู้ป่วยมี 3 ตำบล ใน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ ต.ด่านซ้าย พบที่หมู่ 1 ต.กกสะท้อน พบที่หมู่ 6 หมู่ 7 และ ต.อีปุ่ม พบที่หมู่ 9 ขณะนี้ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วได้เข้าควบคุมการแพร่ระบาดทุกพื้นที่แล้ว มีการระดมให้วัคซีนในกลุ่มประชากรอายุมากกว่า 15-45 ปี ส่วนในกลุ่มเด็กแรกเกิด-15 ปี ให้ตรวจสอบประวัติการให้วัคซีนเพื่อดำเนินการฉีดให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ และติดตามเฝ้าระวังผู้สัมผัส 3 กลุ่ม ได้แก่ สมาชิกในบ้าน ประชาชนในชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลรักษาผู้เสียชีวิตและผู้ป่วย และเฝ้าระวังอาการไข้เป็นเวลา 15 วัน หากพบให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้ายซึ่งจัดห้องแยกไว้เป็นการเฉพาะ ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยใหม่เพิ่ม และให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและ อสม.ค้นหาผู้ป่วยที่มีไข้ ไอ เจ็บคอทุกวัน หากพบอาการน่าสงสัยให้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย ขณะเดียวกัน ได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดเลย เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมด้านการรักษา และตรวจสอบการให้วัคซีนป้องกันคอตีบให้ได้ 100%
กำลังโหลดความคิดเห็น