xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.พัทลุงเผย พบสถิติผู้ป่วยมือเท้าปากกว่า 200 คน ตั้งแต่ต้นปี อ.ศรีบรรพต ครองแชมป์สูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พัทลุง - สสจ.พัทลุง เผยตั้งแต่ต้นปีพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากทั้งสิ้น 247 ราย ป่วยมากสุดในเดือน มิ.ย. แต่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต อ.ศรีบรรพต ครองแชมป์ป่วยสูงสุด รองลงมาคือ อ.ควนขนุน และ อ.บางแก้ว

นายแพทย์สาธิต ไผ่ประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคมือเท้าปากในจังหวัดพัทลุง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก จำนวนทั้งสิ้น 247 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 48.51 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต

กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือ อายุ 0-4 ปี จำนวน 234 ราย พบผู้ป่วยสูงสุดในเดือนมิถุนายน จำนวน 106 ราย โดยมีรายงานผู้ป่วยเดือนมกราคม 32 ราย, กุมภาพันธ์ 33 ราย, มีนาคม 33 ราย, เมษายน 13 ราย, พฤษภาคม 15 ราย กรกฎาคม 15 ราย

พบผู้ป่วยในเขตเทศบาลร้อยละ 22.69 ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลร้อยละ 77.31 ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพัทลุง 88 ราย โรงพยาบาลชุมชน 138 ราย สถานีอนามัย 16 ราย คลินิก/โรงพยาบาลเอกชน 5 ราย

อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ อำเภอศรีบรรพต อัตราป่วยเท่ากับ 80.76 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ อำเภอควนขนุน, บางแก้ว, ศรีนครินทร์, เมืองพัทลุง, ป่าบอน, ป่าพะยอม, เขาชัยสน, ปากพะยูน, กงหรา และตะโหมด อัตราป่วยเท่ากับ 79.22, 73.57, 71.26, 50.02, 45.70, 38.49, 33.64, 24.17, 22.79 และ 3.45 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ

สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ส่วนใหญ่เกิดกับกลุ่มเด็ก ในศูนย์เด็กเล็กต่างๆ และที่บ้าน คุณครูผู้ดูแลเด็ก และผู้ปกครองควรมีการคัดกรอง และการเฝ้าระวังโรค ซึ่งโรคนี้โดยปกติพบว่าความรุนแรงของโรคเกิดขึ้นน้อย มีลักษณะคล้ายกับแผลร้อนใน ทำให้ผู้ปกครองไม่ทราบว่าโรคที่กำลังเป็นอยู่สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ ทั้งทางตรง และทางอ้อม จึงได้แจ้งเตือนไปยังสถานบริการสาธารณสุข สถานศึกษา และศูนย์เด็กเล็ก ให้มีการเฝ้าระวังการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค คือ การเล่นคลุกคลีกับเด็กที่ป่วย การเล่นของเล่นร่วมกัน การใช้แก้วน้ำ และผ้าเช็ดมือร่วมกัน

นายแพทย์สาธิต ไผ่ประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่า ช่วงอายุที่เกิดการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้บ่อยที่สุด คือ เด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ โดยเฉพาะเด็กเล็ก อายุระหว่าง 2 สัปดาห์ถึง 3 ปี อาการของโรค ไข้สูง เจ็บคอ ปวดศีรษะ มีตุ่มน้ำใส หรือแผลที่มือเท้าคอในปาก (อาจพบที่บริเวณก้นร่วมด้วย) ในเด็กเล็กจะไม่กินนม ไม่กินอาหาร

แนวทางการป้องกันโรคมือเท้าปาก คือ การหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่เกิดการระบาด สำหรับการป้องกันโรคนี้อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลย คือ เรื่องของสุขอนามัยของประชาชน กล่าวคือ ให้คุณครูผู้ดูแลเด็ก และผู้ปกครองมุ่งเน้นที่ความสะอาดของร่างกาย ล้างมือให้สะอาดภายหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง และก่อนรับประทานอาหาร

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า การล้างมือให้สะอาด และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ของเล่นเด็ก ล้วนเป็นประโยชน์ในการป้องกันโรคทั้งสิ้น ในสถานที่ดูแลเด็ก เช่น สถานเลี้ยงเด็กอ่อน เด็กเล็ก ควรเน้นวิธีกำจัดอุจจาระให้ถูกต้อง และเน้นการล้างมือให้สะอาด เนื่องจากไวรัสพวกนี้แพร่กระจายโดยการสัมผัสอุจจาระของผู้ป่วย และเมื่อเด็กมีตุ่มใสขึ้นที่ปาก มือ หรือ เท้า ขอให้นึกถึงโรคนี้ และต้องพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา และแยกเด็กป่วยไม่ให้คลุกคลีกับเด็กอื่นประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อด้วยเช่นกัน

ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง ได้ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็วกระจายออกไป ให้ครอบคลุมบริเวณทุกพื้นที่ เพื่อปฏิบัติการเฝ้าระวัง และควบคุมโรค พร้อมประชาสัมพันธ์ให้สุขศึกษาผ่านทางสื่อต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงอันตรายของโรค วิธีการติดต่อ และแนวทางป้องกันควบคุมโรค และหากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามได้ที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านท่าน
กำลังโหลดความคิดเห็น