xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายคุมเหล้า...เอาอยู่จริงหรือแค่เสือกระดาษ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที โดยได้ปรับภาษีสุราขาวจาก 120 บาทต่อลิตร เพิ่มเป็น 150 บาทต่อลิตร สุราผสมจาก 300 บาทต่อลิตร เป็น 350 บาทต่อลิตรนั้น หลายฝ่ายต่างออกมาแสดงความชื่นชมว่าเป็นการลดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมมากนัก

แต่รูปการกลับสวนกระแสความชื่นชมอย่างแรง เมื่อการขึ้นภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ แท้จริงแล้วไม่ได้มีผลต่อการลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่อย่างใด เพราะยอดขายของสินค้าในกลุ่มสุรายังเติบโตดีอยู่ และยังคงดื่มกันเป็นเรื่องปกติ

สาเหตุสำคัญเชื่อว่า ผู้บริโภคไม่รู้สึกว่าการขึ้นภาษีในครั้งนี้ทำให้ราคาเหล้าสูงขึ้น หากจะทำให้การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง รัฐบาลจะต้องเพิ่มขนาดยาให้แรงขึ้น ต้องมีการเพิ่มเพดานภาษีที่ไม่ได้ปรับมาตั้งแต่ปี 2493 โดยอาจออกเป็นพระราชกำหนดหรือพระราชกฤษฎีกา และขึ้นภาษีเพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่าราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นมาก โดยจะต้องเพิ่มภาษีให้ครอบคลุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทหรือเกือบทุกประเภท

นอกจากเรื่องการขึ้นภาษีเหล้าแล้ว มาตรการแก้ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างอื่นของรัฐบาลที่เป็นที่รู้จักในสังคมก็ยังมี อาทิ การออกกฎหมายบังคับผู้ขาย การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรณรงค์ลดเหล้าผ่านสื่อต่างๆ การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา ฯลฯ แต่กลับสอบตกเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย และบางมาตรการยังเป็นการส่งเสริมทางอ้อมให้คนไทยเข้าถึงเหล้าได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา แต่ทุกวันนี้ยังมีร้านเหล้าเปิดอยู่ใกล้ตามสถานที่ศึกษาเป็นจำนวนมาก เพียงแค่ “จ่าย” ตามที่ตกลงกันไว้กับผู้มีอำนาจก็สามารถเปิดขายได้อย่างอิสรเสรี นอกจากนี้ มาตรการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ทำให้ทุกบริษัทมีเงินเหลือจากการไม่ต้องทำโฆษณา จึงหันมาแข่งขันด้านราคาแทน ผู้มีรายได้น้อยก็สามารถเข้าถึงเหล้าได้ง่ายขึ้น

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายแก้ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าของรัฐบาลชุดใดก็ตาม ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง ใช่หรือไม่?

แต่ประเด็นที่น่าห่วงกว่าคือ ผู้มีอำนาจไม่ได้มีความจริงใจในการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ทั้งที่ทราบว่าการแก้ปัญหาด้วยนโยบายที่ผ่านๆมาจะไม่ได้ผล แต่ก็ยังคงเลือกดำเนินการ เพราะเป็นวิธีแก้ปัญหาอย่างง่าย ผู้ที่ทำงานและอยากได้ผลงาน สามารถนำไปอ้างได้ชัดเจนว่าออกกฎหมายกี่ฉบับ แต่ไม่ได้คำนึงถึงผลลัพธ์ที่แท้จริง ทั้งที่สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาที่ได้ผลดีที่สุดนั้นคือความจริงใจของผู้แก้ปัญหา โดยต้องร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้งผู้ออกกฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย ผู้ที่ให้ความรู้กับสังคม หน่วยงานและองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบ รวมไปถึงภาคประชาชนและผู้ที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

โดยมาตรการที่จะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายมีความจริงจังมากขึ้นต้องอาศัย

1.งบประมาณ ในการสนับสนุนให้ตำรวจออกตรวจตราให้มากขึ้น เพราะแต่เดิมมีการใช้งบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จำนวนมหาศาลไปกับการออกมาตรการต่างๆ เพียงอย่างเดียว ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถลดตัวเลขของปริมาณการดื่มในแต่ละปีลงได้ จึงควรนำงบประมาณมาสนับสนุนกำลังคนให้มีความตั้งใจในการบังคับใช้กฎหมายมากกว่า

2.ต้องกระจายกำลังคนมาช่วยกันตรวจตรากฎหมาย และให้การศึกษาแก่เด็กและเยาวชนอย่างจริงจัง

และ 3.ต้องมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาในทุกภาคส่วน จะให้ภาครัฐแก้ปัญหาเพียงฝ่ายเดียวคงประสบความสำเร็จยาก เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาของสังคมส่วนรวม ไม่ใช่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง ด้านภาคธุรกิจก็ต้องทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ บนพื้นฐานความเข้าใจว่า ธุรกิจจะดำเนินต่อไปได้ ต้องทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและไม่เอาเปรียบสังคม และที่สำคัญทุกฝ่ายในสังคมต้องช่วยกัน!
กำลังโหลดความคิดเห็น