WHO แนะรัฐบาลใช้ภาษีอาหารคุมโรคเรื้อรัง ชี้ขึ้นภาษีน้ำอัดลมไม่กระเทือนค่าครองชีพ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เสนอปรับระบบภาษีให้ถูกทางหลังพบคนไทยกินน้ำตาลเกินกว่าฮูแนะนำถึง 3 เท่า
ทญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ตัวแทนเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เปิดเผยว่า คนไทยรับประทานน้ำตาลสูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 3 เท่า การศึกษายังพบว่า แหล่งอาหารที่ให้น้ำตาลเป็นหลัก คือ เครื่องดื่ม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น รายงานขององค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ประเทศต่างๆ พิจารณาการใช้มาตรการทางภาษีอาหาร เพื่อจัดการกับวิกฤตโรคอ้วนและโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล ไขมัน โซเดียม และพลังงานสูง ซึ่งมีความสัมพันธ์ชัดเจนต่อความเสี่ยงของโรคเรื้อรังต่างๆ หลักฐานทางวิชาการยืนยันให้เห็นว่า ระบบภาษีเป็นหนึ่งในมาตรการที่ได้ผล และมีความคุ้มค่า และยังเป็นสิ่งที่ทำได้ ข้อมูลวิชาการจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า รัฐหรือประเทศที่มีการเก็บภาษีอาหารและเครื่องดื่มพลังงงานสูง จะมีปัญหาภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนน้อยกว่า และยังทำให้รัฐได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น โดยไม่ได้เพิ่มภาระแก่ประชาชนอย่างที่อุตสาหกรรมน้ำอัดลมกล่าวอ้าง
ทพ.วีระศักดิ์ พุทธาศรี สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า การปรับปรุงภาษีเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ทั้งน้ำอัดลมและเครื่องดื่มอื่นๆ ควรเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินการมากที่สุดก่อนจะขยายไปหาอาหารประเภทอื่นๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว น้ำอัดลมในประเทศไทย มีราคาถูกมาก และยังมีความหวานมากกว่าอีกหลายประเทศ ยี่ห้อที่หวานมากเป็นยี่ห้อที่ครองตลาดสูงสุดในแต่ละกลุ่ม หากขึ้นราคาน้ำอัดลมจะทำให้การบริโภคลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ การขึ้นภาษีน้ำอัดลมเป็นเรื่อง วิน-วิน สังคมได้สุขภาพในขณะที่รัฐได้งบประมาณเพิ่มขึ้น
น.ส.สิรินทร์ยา พูลเกิด ผู้จัดการแผนงานนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาระบบภาษีสรรพสามิตในประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับกับประเด็นสุขภาพเท่าที่ควร อัตราภาษีไม่ได้สะท้อนกับปริมาณน้ำตาล เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่ระบบภาษีมีลักษณะที่ส่งเสริมให้คนรับประทานน้ำตาลเพิ่มขึ้น เครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาลต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงกว่าเครื่องดื่มรสหวาน ในขณะที่ในกลุ่มที่มีน้ำตาลนั้นก็จ่ายภาษีเท่ากันไม่ว่าจะหวานมากหรือน้อย ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เครื่องดื่มที่หวานมากมีราคาต่ำกว่าเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ
ดร.อิศรา ศานติศาสน์ กล่าวว่า ครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯและภาคกลางจ่ายค่าน้ำอัดลมมากกว่าภาคเหนือและภาคใต้ถึงประมาณสองเท่า และการเพิ่มราคาเครื่องดื่มน้ำอัดลมร้อยละสิบ จะทำให้ครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพียงประมาณร้อยละ 0.034 ซึ่งการขึ้นราคาในอัตราดังกล่าวจะไม่ได้มีผลต่อค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อเท่าไร