xs
xsm
sm
md
lg

สสส.ชี้ขึ้นภาษีบุหรี่ช่วยลดสิงห์อมควันได้ 6-7 หมื่นคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สสส.ชี้ขึ้นภาษีบุหรี่ช่วยลดผู้บริโภคได้ 6-7 หมื่นคน และช่วยสกัดบุหรี่นอกราคาถูกได้ แนะรื้อ กม.เหล้าล้าสมัย เพื่อปรับเพิ่มเพดานภาษีและปรับสมดุลโครงสร้างระหว่างประเภท เสนอใช้มาตรการควบคุมการขาย การตลาด ควบคู่ไปด้วย ช่วยลดความสูญเสียทางสุขภาพได้

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกรณีที่ ครม. มีมติเห็นชอบการขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า ต้องขอชื่นชมรัฐบาลที่ตัดสินใจขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีเศษ ซึ่งการใช้มาตรการขึ้นภาษีเป็นระยะดังกล่าว เป็นแนวทางสากลที่ใช้กัน โดยในบางประเทศมีการกำหนดในกฎหมายภาษีเลยว่า ต้องมีการขึ้นภาษีทุก 1-2 ปีตามอัตราเงินเฟ้อ โดยรูปแบบในการปรับภาษียาสูบครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีเพิ่มช่องทางการเก็บภาษีจากการคำนวณตามปริมาณ 1 บาทต่อกรัม หรือประมาณมวนละ 1 บาท ซึ่งถือเป็นข้อดีอย่างยิ่งจากเดิมที่มีช่องทางเก็บตามต้นทุนของสินค้าเพียงทางเดียว เพราะพบว่ามียาสูบบางยี่ห้อมีการแจ้งราคาต้นทุนต่ำกว่าจริงทำให้เก็บภาษีได้ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก แต่การคิดราคาภาษีตามปริมาณของยาสูบจะทำให้แม้จะมีการแจ้งราคาต่ำกว่าจริงแต่ก็จะต้องคิดภาษีตามจำนวนมวน อย่างน้อยซองละ 20 บาท ทำให้เมื่อคำนวณภาษีและเลือกช่องทางที่เสียภาษีสูงกว่าแล้ว ราคาไม่ถูกเกินไป ซึ่งจะช่วยป้องกันการโจมตีตลาดด้วยยาสูบราคาถูกจากต่างชาติที่ปัจจุบันเริ่มเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น

“การเพิ่มภาษียาสูบครั้งนี้เป็นมาตรฐานที่นานาชาติปฏิบัติส่งผลต่อมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบได้เป็นอย่างดี โดยจากผลการศึกษาที่ สสส.สนับสนุนให้ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกทำร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คาดว่าจะทำให้ลดการบริโภคยาสูบของประชากรได้ประมาณ 6-7 หมื่นคน” รองผู้จัดการ สสส.กล่าว

ดร.สุปรีดากล่าวต่อว่า แต่เมื่อพิจารณาภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจจะยังไม่เห็นผลชัดเจนมากนักต่อการลดอัตราการบริโภค เพราะประเภทสุราส่วนใหญ่ติดเพดานภาษีตามกฎหมายแม่แล้ว ขณะที่สุราขาวที่ยังมีเพดานภาษีถึง 400 บาทต่อลิตร แอลกอฮอล์บริสุทธิ์ก็ขึ้นจาก 120 บาทมาเพียง 150 บาท จึงควรต้องมีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 ซึ่งล้าสมัยมากแล้วต่อไป เพื่อให้เอื้ออำนวยต่อการปรับปรับเพดานภาษีรวมถึงปรับโครงสร้างภาษีของสุราทุกประเภทให้เกิดความสมดุลขึ้น

“ภาษีถือเป็นมาตรการหนึ่งที่สำคัญ แต่ยังมีมาตรการอื่นที่ต้องทำไปพร้อมกันในการควบคุมการบริโภคสุราและยาสูบ เช่น การลดการเข้าถึงไม่ให้มีการบริโภคได้เหมือนสินค้าปกติโดยการควบคุมการออกใบอนุญาต การจำกัดอายุผู้ซื้อ หรือการจำกัดการทำการตลาด การปราบปรามสินค้าหนีภาษี เป็นต้น จึงจะสามารถลดปริมาณการบริโภคลงอย่างได้ผล เพราะจากข้อมูลวิชาการพบว่า การที่ประชาชนมีปริมาณการบริโภคสูงจะยิ่งก่อผลเสียทางเศรษฐกิจ และสิ้นเปลืองงบประมาณการรักษาโรคภัย มากกว่ารายได้ที่รัฐได้มาหลายเท่าตัว” รองผู้จัดการ สสส.กล่าว

ด้านนพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่าการขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็ยังเป็นการขึ้นภาษีที่ยังไม่ถึงขั้นสุดเพดานของการเก็บภาษีโดยเฉพาะเครื่องดื่มสุรา เนื่องจากเป็นการขึ้นที่ปรับราคาเพิ่มไม่สูงนัก แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถลดอัตราการดื่มในกลุ่มผู้ดื่มปกติลงได้ประมาณ 2% ส่วนในกลุ่มผู้ดื่มที่มีการดื่มสูงจะสามารถลดลงได้ 1.8% โดยเมื่อมองภาพรวมแล้วก็จะพบว่าปริมาณการดื่มก็ยังไม่ลดลงมาก แต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตามในตลาดจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในเรื่องราคาก็คงต้องรออีกประมาณ 6 เดือน - 1 ปี เนื่องจากตอนนี้สินค้าที่มีอยู่ในตลาดยังเป็นการเสียภาษีแบบเก่าและยังคงเป็นสินค้าที่ค้างสต๊อกอยู่ โดยการขึ้นภาษีครั้งนี้เมื่อเทียบกับรายได้ของประชากรไทยที่มีการปรับระดับฐานเงินเดือนเพิ่มขึ้นนั้นก็จะพบว่าการขึ้นภาษีในครั้งนี้เป็นการขึ้นภาษีเครื่องดื่มและบุหรี่ที่ถูกอยู่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น