xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯยื่นสมาชิกสภายุโรปตรวจสอบ FTA อาจขัดเงื่อนไขมติสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ นำภาคประชาสังคม ยื่นหนังสือชื่นชมสมาชิกสภายุโรป หลังไม่รับร่าง ACTA ซึ่งจะส่งผลต่อประชาชนในการเข้าถึงยาของประเทศกำลังพัฒนา พร้อมขอให้ตรวจสอบ FTA ยุโรปที่มีเงื่อนไขขัดกับมติสภายุโรป

วันนี้ (29 ส.ค.) ภาคประชาสังคมไทย อาทิ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย คณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ฯลฯ ได้เข้ายื่นจดหมายกับ นายแวร์เนอร์ ลาเกน สมาชิกสภายุโรป เพื่อชื่นชมสภายุโรปที่ตัดสินใจไม่ยอมรับร่างความตกลงการค้าต่อต้านสินค้าปลอมแปลง (The Anti-counterfeiting Trade Agreement - ACTA) เนื่องจากเป็นการบังคับให้ประเทศคู่เจรจาต้องยอมรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่ามาตรฐานในองค์การการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา จึงขอให้สมาชิกของสภายุโรปรักษาเจตจำนงที่เห็นความสำคัญกับผลประโยชน์ด้านสุขภาพมากกว่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ พร้อมขอให้นำหลักการดังกล่าวไปใช้กับการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี และขอให้ตรวจสอบและติดตามการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่มีเงื่อนไขแบบทริปส์ผนวกต่างๆ ซึ่งขัดแย้งกับมติของสภายุโรป ทั้งนี้ หนังสือที่ภาคประชาสังคมยื่นต่อนายแวร์เนอร์ มีใจความดังนี้

ความตกลง ACTA ที่มีข้อผูกพันที่ขัดขวางการเข้าถึงยาชื่อสามัญที่มีคุณภาพและชอบธรรมของโลก ถือเป็นภัยคุกคามต่อการสาธารณสุข ด้วยข้อจำกัดที่เข้มงวดในข้อตกลงนี้ ยาชื่อสามัญที่จะใช้ช่วยชีวิตประชาชนเสี่ยงที่จะถูกยึดจับที่ท่าขนส่งสินค้าในระหว่างการขนส่งไปยังประเทศปลายทาง เพียงเพราะยาเหล่านั้นถูกต้องสงสัยว่าเป็นเวชภัณฑ์ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศกลางทางที่แวะถ่ายสินค้า ถึงแม้ว่ายาเหล่านั้นจะเป็นยาที่มีคุณภาพและปลอดภัย และการคุ้มครองสิทธิบัตรจบสิ้นลงแล้วหรือไม่ได้จดสิทธิบัตรในทั้งในประเทศต้นทางและปลายทางก็ตาม มาตรการยึดจับสินค้าในระหว่างการขนส่ง หรือที่รู้จักในชื่อ “มาตรการ ณ จุดชายแดน” จะสกัดกั้นไม่ให้มีการขนส่งยาชื่อสามัญที่ชอบธรรมและถูกกฎหมายไปยังมือผู้ป่วยนับล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดได้ ซึ่งยาดังกล่าวเป็นยาจำเป็นที่จะช่วยรักษาชีวิตไว้ได้ในราคาที่ไม่แพง ข้อกำหนดในแอ็คต้าเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นมาตรการที่เข้มงวดเกินกว่ามาตรฐานด้านทรัพย์สินทางปัญญาของโลก (ข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก) และขัดต่อปฎิญญาโดฮาว่าด้วยข้อตกลงทริปส์กับการสาธารณสุขขององค์การการค้าโลกอย่างสิ้นเชิง

ถึงแม้ว่าสภายุโรปจะมีมติเป็นเอกฉันท์ปฏิเสธ ร่างความตกลง ACTA เมื่อไม่นานมานี้ก็ตาม เรายังคงมีความกังวลอย่างยิ่งว่าข้อกำหนดในลักษณะเดียวกับมาตรการ ณ จุดชายแดนของ ACTA ได้รวมอยู่ในข้อตกลงเขตการค้าเสรี (หรือ เอฟทีเอ) ที่สหภาพยุโรปกำลังเจรจาหรือจะเปิดการเจรจากับประเทศคู่ค้าเป้าหมาย ซึ่งรวมถึง กลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย และไทย สิ่งที่เลวร้ายไปกว่านั้น ข้อกำหนดอื่นๆ อีกจำนวนมาก ที่เข้มงวดเกินกว่าข้อตกลงทริปส์ หรือที่เรียกว่า “มาตรการทริปส์ผนวก” (เช่น การผูกขาดข้อมูลทางยา การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตร การบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวด การผูกขาดข้อมูลทางยาในเรื่องสิ่งบ่งชี้ใหม่ การคุ้มครองการลงทุน ฯลฯ) ได้ถูกกำหนดอยู่ในเนื้อหาข้อตกลงเขตการค้าเสรีของสหภาพยุโรปทั้งสิ้น ข้อกำหนดแบบทริปส์ผนวกเช่นนี้จะกีดกันการแข่งขันของยาชื่อสามัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะขัดขวางไม่ให้ประเทศคู่ค้านำมาตรการคุ้มครองการสาธารณสุขได้โดยปริยาย (ถึงแม้จะไม่ได้ห้ามไม่ให้นำมาใช้) และจะเป็นอุปสรรคทำให้ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาเข้าไม่ถึงยาจำเป็นในที่สุดด้วยการบีบบังคับให้ประเทศคู่ค้ายอมรับข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่มีมาตรการทริปส์ผนวกทั้งทางตรงและทางอ้อม คณะกรรมาธิการยุโรปด้านการค้ากำลังกระทำการในทิศทางที่สวนทางกับมติของสภายุโรปว่าด้วยโรคสำคัญและโรคที่ถูกละเลยในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งได้มีการแปรมติแล้ว (การแปรมติเลขที่ 2005/2047 (INI)) ในการแปรมติข้อที่ 1 เรียกร้องให้ขยายประเภทของโรคที่ถูกละเลย และเน้นให้คณะกรรมาธิการยุโรปนำการแปรมติข้อนี้ไปปรับใช้ให้ครอบคลุมโรคอื่นๆ นอกเหนือจากเอชไอวี/เอดส์ มาลาเรีย และวัณโรค นอกจากนั้น ในข้อที่ 61 สภายุโรปเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป สนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามปฏิญญาโดฮาอย่างจริงจังและต่อต้านการกระทำใดๆ ก็ตามของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก ที่ละเมิดคำมั่นสัญญาที่ได้ตกลงร่วมกันในปฎิญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทาง ปัญญาและการสาธารณสุขดังกล่าว โดยเฉพาะการกระทำที่ผ่านการเจรจาที่มีข้อผูกพันแบบทริปส์ผนวกในข้อตกลงเขต การค้าเสรีใดๆ ก็ตาม

ดังนั้น เราจึงขอเรียกร้องให้สมาชิกของสภายุโรปรักษาเจตจำนงค์ของพวกท่านที่เห็นความสำคัญกับผลประโยชน์ด้านสุขภาพมากกว่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และนำหลักการเดียวกันนี้ไปใช้กับการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี เฉกเช่นเดียวกับที่ทำกับความตกลง ACTA นอกจากนี้ เรายังขอเรียกร้องให้สมาชิกสภายุโรปตรวจสอบและติดตามการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่มีเงื่อนไขแบบทริปส์ผนวกต่างๆ ซึ่งขัดแย้งกับมติของสภายุโรปดังที่กล่าวไว้ข้างต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น