xs
xsm
sm
md
lg

ปรับคำนิยาม “มือเท้าปาก” แก้ปัญหาพบโรคช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วงถกมือเท้าปาก ผู้เชี่ยวชาญไวรัสเร่งปรับคำนิยามแก้ปัญหาพบโรคช้า ยันเชื้อติดทางสัมผัสเท่านั้น และยังไม่มีการกลายพันธุ์ ชี้ สังเกตอาการไข้สูง อาเจียน ซึม กระตุก ชัก ส่ออันตราย แนะเด็กป่วยให้หยุดเรียน แต่ไม่ควรปิดโรงเรียน ส่วนเด็ก 2 ขวบตาย ยันไม่มีเหตุปัจจัยว่าเป็นโรคมือเท้าปาก

วันนี้ (20 ก.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น.ที่กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการประชุมหารือเพื่อทบทวน และพัฒนามาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา และควบคุมโรค มือ เท้า ปาก โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาเข้าร่วมการประชุม อาทิ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นพ.นพพร อภิวัฒนากุล คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พญ.สุจิตรา นิมมานนิตย์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค นพ.ภาสกร อัครเสวี ผอ.สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผอ.สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผอ.สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะที่ปรึกษากรมควบคุมโรค เป็นประธาน โดยใช้เวลาในการประชุมกว่า 4 ชั่วโมง

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ แถลงภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้มีการทบทวนมาตรการเฝ้าระวังและการรักษา โดยพบว่า สถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ในช่วงเดือน ก.ค.เป็นช่วงที่มีการระบาดสูงอยู่แล้วในแต่ละปี โดยคาดว่า การระบาดจะสงบลงภายใน 2 เดือน ทั้งนี้ ได้มีการปรับคำนิยามโรคใหม่ เพื่อให้มีการตรวจจับโรคนี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น สำหรับการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการยังพบว่า เชื้อที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก ยังคงเป็น ค็อกซากี เอ6 มากกว่า เอ็นเทอโรไวรัส 71 และเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 จะเป็นชนิด บี5 มากกว่า ซี4 ส่วนการปรับคำนิยามใหม่เรื่องการแพร่ระบาดของโรค จากเดิมที่ให้ชี้ว่า ต้องมีตุ่มน้ำ ไข้สูง แต่ปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยบางรายไม่มีตุ่มน้ำ ทั้งผิวหนัง และในปาก แต่กลับพบตามง่ามมือ เท้า จึงต้องให้ใช้อาการข้างเคียง และดูจากประวัติของเพื่อนในโรงเรียน ว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก หรือไม่

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับในการประชุมมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการไวรัสวิทยา จากศิริราช พบว่า จากการเก็บเชื้อสามารถเพาะเซลล์ โรคมือเท้าปาก ได้จากโพรงจมูกแต่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ถึงการกระเด็นของเชื้อ แต่จะมีการเฝ้าระวังและติดตามทางการแพทย์ต่อไป ว่า จะเป็นช่องทางการติดเชื้อได้หรือไม่ โดยถือเป็นการข้อมูลในการศึกษาใหม่เท่านั้น ยังไม่ได้เป็นการเพิ่มคำนิยามว่าจะสามารถติดเชื้อทางอื่นได้เพิ่มเติมจากเดิม เพราะการติดต่อของโรคมือ เท้า ปาก จะยังคงเป็นทางการสัมผัสเป็นหลัก โดยเฉพาะการสัมผัสอุจจาระ อาเจียน น้ำมูก ยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง และต้องล้างมือให้สะอาดเหมือนเดิม เพราะเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้มากที่สุด ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกว่าจะติดเชื้อในอากาศได้ แต่ให้หลีกเลี่ยงการไอ จามรดกันเหมือนโรคทางเดินหายใจปกติ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจจับการระบาดและรายงานโรค พบว่าขณะนี้ยังขาดระบบการติดตามผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง โดยมีการเสนอว่า กรณีการระบาเป็นกลุ่มหรือมีความผิดปกติ ควรรายงานเบื้องต้นอย่างรวดเร็วให้หน่วยงาน หรือกระทรวงที่เกี่ยวข้องรับทราบ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีปกติ ก่อนที่จะมีการรายงานข่าวจากสื่อมวลชน นอกจากนี้ กระทรวงควรมีจุดเฝ้าระวังและการติดตามอัตราการเกิดผู้ป่วยอาการรุนแรง ทั้งในและนอกห้องปฏิบัติการและอาการทางคลินิก ส่วนแนวโน้มการพยากรณ์การเกิดโรค ควรมีและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนให้รับทราบ

“สำหรับข้อมูลการตรวจทางห้องปฏิบัติการในภาพรวมของประเทศจากห้องปฏิบัติการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ภูมิต้านทานของประชากรไทยนั้น 1 ใน 3 ไม่มีภูมิต้านทานเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 บี5 ซึ่งในจำนวนนี้มักเป็นเด็กทารก และยังพบว่า เด็กแรกเกิดที่ติดเชื้อในเลือด ร้อยละ 36 เกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส ซึ่งจากการเฝ้าระวังในรอบ 12 ปี ในผู้ป่วยประสาทอักเสบ 930 คน พบว่า เกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 4 ราย นอกจากนี้ พบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยโรคสมองอักเสบ 84 ราย ร้อยละ 20 หากได้รับเชื้อเอ็นเทอโรไวรัสจะก่อให้เกิดโรคทางภูมิคุ้มกันด้วยได้” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการเฝ้าระวัง พบว่า สัญญาณอันตราย คือ อาการไข้สูง ร่วมกับอาเจียน หรือซึม หรือกระตุก หรือชัก หรือหายใจเหนื่อยหอบ โดยไม่ควรใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ในการรักษาโดยเฉพาะในระยะแรก เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยหนักขึ้น แนวทางการรักษาใช้น้ำอุ่นเช็ดตัว และให้ยาพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามใช้ยากลุ่มแอสไพรินโดยจำเป็นต้องใช้การสังเกตจากหลายประเด็นร่วมกัน เพราะผื่นไม่ได้เกิดขึ้น 100% บางรายไม่มีที่มือ เท้า แต่เจอที่แก้มก้น เป็นต้นเช่น ประวัติผู้ป่วยว่าได้เข้าไปในสถานที่ที่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างศูนย์เด็กเล็กมาก่อนหรือไม่ เมื่อเจ็บป่วยต้องให้ประวัติแพทย์ให้เข้าใจเพื่อเฝ้าระวัง อย่าปิดบังประวัติ

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ประเด็นปัญหาเรื่องการทำความสะอาดโรงเรียน ว่า น้ำยาฟอกขาวจะสามารถฆ่าเชื้อได้หรือไม่ โดยคณะกรรมการพิจารณา ว่า ขั้นแรกให้ทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม ด้วยน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง ส่วนจุดที่คิดว่าจะมีเชื้อมากกว่าปกติ เช่น ห้องน้ำ ของเล่น ให้ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมคลอรีนอีกครั้ง แล้วทิ้งไว้ 15 นาที ก่อนจะล้างออกอีกครั้ง ส่วนของเล่นที่เข้าปาก ต้องล้างด้วยสบู่ ผงซักฟอก หรือ ต้ม หรือ ตากแดด หากสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ จะสามารถฆ่าเชื้อทั่วไป รวมทั้งเชื้อไข้หวัดได้ดี แต่ฆ่าเชื้อโรคมือ เท้า ปาก ไม่ได้ผล ขอให้ล้างด้วยสบู่ ก่อนใช้เจลอีกครั้งก็ได้ ไม่แนะนำให้ใช้แอลกอฮอล์ล้างหรือเช็ดโต๊ะเก้าอี้

เมื่อมีเด็กป่วย คำแนะนำคือให้หยุดเรียน โดยควรให้หยุด 7 วัน และไม่ควรเน้นการปิดโรงเรียน ให้เน้นป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ การจัดการเชื้อด้วยการล้างมือ ทำความสะอาดบริเวณที่มีเด็กอยู่อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะหมดการระบาด หลักเลี่ยงพาเด็กป่วยไปบริเวณแออัด ระวังการแพร่เชื้อไปสู่เด็กในบ้าน และควรทำคู่มือสำหรับโรงเรียนในการป้องกันแพร่เชื้อทั่วไป โดยในระยะนี้ให้หลีกเลี่ยงการใช้สระว่ายน้ำสาธารณะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยสระว่ายน้ำต้องเติมคลอรีนให้ได้ตามมาตรฐาน” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าว

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อมูลเรื่องการกลายพันธุ์ ปัจจุบันแม้แต่ข้อมูลในเขมรก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีการกลายพันธุ์ และพบว่า แม้แต่การแยกเชื้อว่าเป็นเอ็นเทอโรไวรัส 71 หรือไม่ต้องใช้เวลาหลายเดือน จากที่มีการระบาดมาตั้งแต่เดือน ม.ค.ในกัมพูชา อย่างไรก็ตาม ไทยมีความร่วมมือเรื่องเชื้อกับเครือข่ายระหว่างประเทศผ่านกลไกขององค์การอนามัยโลกอยู่แล้ว ทั้งนี้ อาจต้องมีการประสานความร่วมมือของห้องปฏิบัติการภายในประเทศเพิ่มเติมด้วย แต่จากการเฝ้าระวังกลายพันธุ์ของเชื้อ ยังไม่พบการกลายพันธ์ในประเทศไทย หรือเชื้อที่ก่อความรุนแรงผิดปกติ ทั้งนี้ ยังมีการเฝ้าระวังทั้งห้องปฏิบัติการและอาการอย่างต่อเนื่อง

เมื่อถามถึงสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็กหญิงวัย 2 ขวบ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า อาการเด็ก 2 ขวบ เท่าที่ได้พิจารณากัน ไม่ได้เกิดจากเอ็นเทอโรไวรัส เพราะได้พิจารณาทั้งทางระบาดและด้านอื่น ยังไม่พบความเกี่ยวพัน ซึ่งสุดท้ายต้องทำการชันสูตรที่ต้องใช้เวลา แต่ตามหลักฐานการสอบสวนโรคทำให้เชื่อได้ว่า ไม่น่าจะเกิดจากเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 และยังพบปัจจัยที่อาจทำให้ติดเชื้ออื่นได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา มีการเก็บตัวเลขผู้ป่วยไวรัสมือเท้าปาก ล่าสุด มีจำนวน 13,900 ราย โดยในจำนวนนี้พบว่าเป็นผู้ใหญ่ 100 ราย แบ่งตามกลุ่มอายุ ดังนี้ อายุระหว่าง 15-24 ปี มีจำนวน 43 ราย กลุ่มอายุ 25-34 ปี มีจำนวน 22 ราย กลุ่มอายุ 35-44 ปี มีจำนวน 15 ราย กลุ่มอายุ 45-54 ปี มีจำนวน 7 ราย กลุ่มอายุ 55-64 ปี มีจำนวน 4 ราย และกลุ่มอายุ 65 ปีขี้นไปมีจำนวน 9 ราย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่ถึงร้อยละ 1 ของผู้ป่วยทั้งหมด ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น