ช่วงนี้สถานการณ์ “โรคมือเท้าปาก” กำลังเป็นที่หวั่นวิตกในไทย เนื่องจากมีเด็กวัย 2 ขวบครึ่งเสียชีวิตจากการได้รับเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 และมียอดผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้มีมากกว่า 13,000 คนแล้ว รวมถึงผู้ใหญ่ได้มีรายงานการป่วยด้วยโรคมือเท้าปากนี้ด้วยเช่นกัน
ล่าสุดจากการเสียชีวิตของเด็กผู้หญิงวัย 2 ขวบครึ่ง ที่โรงพยาบาลนพรัตน์ฯ ทำให้ทีมแพทย์ต้องเร่งวินิจฉัย เพื่อพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์เสียชีวิตจากโรคมือเท้าปากหรือไม่ เนื่องจากเด็กที่เสียชีวิตไม่แสดงอาการ คือไม่มีตุ่มใส หรือผื่นขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ร่างกาย และปาก แต่เชื้อได้เข้าไปทำลายปอด สมอง และหัวใจ โดยพบเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ที่คอของเด็ก ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อไวรัสนี้มีโอกาสเสียชีวิตเพียงร้อยละ 10 แต่เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง รวดเร็ว และกระจายเข้าไปทุกระบบของร่างกาย
นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปากเพิ่มขึ้น จากการรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีกลุ่มผู้ป่วยอายุระหว่าง 15- 65 ปี ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก 100 คน พบมากที่สุดในช่วงอายุ 15-24 ปี มีจำนวนถึง 43 คน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีมีผู้ใหญ่ป่วยด้วยโรคมือเท้าปากว่า ผู้ใหญ่มีโอกาสติดเชื้อได้มากถึงร้อยละ 50 โดยเฉพาะกรณีที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วย เนื่องจากโรคมือเท้าปาก ไม่ได้มีแค่เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 เท่านั้น แต่มีหลายชนิดหลายสายพันธุ์ โดยเอนเทอโรไวรัส เป็นตระกูลที่ก่อโรคดังกล่าว แต่มีหลายชนิดรวมทั้งค็อกซากี จากนั้นก็มีปลีกย่อยอีก โดยความรุนแรงบอกไม่ได้ว่าชนิดไหน เนื่องจากบางชนิดเกิดในบางพื้นที่ บางประเทศกลับรุนแรง แต่พอเกิดประเทศไทยกลับไม่รุนแรง
ปัจจุบันพบว่าคนไทยถึง 1 ใน 3 ไม่มีภูมิต้านทานโรคมือเท้าปาก แต่อาการที่พบในผู้ใหญ่ไม่รุนแรง ตรงนี้นักวิชาการหลายคนเชื่อว่า อาจมาจากพันธุกรรมของคนไทยมีภูมิต้านทานมากกว่า แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจน เนื่องจากเอนเทอโรไวรัส 71 สายพันธุ์ C4 ซึ่งในกัมพูชาพบผู้เสียชีวิต แต่ในไทยยังไม่พบ และยังไม่มีการกลายพันธุ์หรือสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด
สามารถสังเกตอาการของโรคมือ เท้า ปาก ในระยะเริ่มแรกได้ คือ จะมีไข้ต่ำ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ปวดท้อง เจ็บภายในช่องปาก ต่อมาจะเริ่มมีแผลในปาก และผิวหนังตามลำดับ ส่วนมากจะพบบริเวณมือ และเท้า บางครั้งอาจพบบริเวณก้นเด็กได้ ลักษณะเฉพาะของแผลในช่องปาก คือ บริเวณฐานของแผลเป็นสีเหลือง และล้อมรอบด้วยวงสีแดง ส่วนมากเกิดที่บริเวณริมฝีปาก หรือเยื่อบุช่องปาก แต่บางครั้งแผลอาจเกิดขึ้นบริเวณลิ้น เพดานปาก ลิ้นไก่ ทอนซิล หรือเหงือกได้
เมื่อพบอาการดังกล่าวควรรีบพาเด็กป่วยไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว และดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด กรณีที่มีเด็กป่วยหลายห้องหรือหลายชั้นเรียนควรปิดโรงเรียนชั่วคราวอย่างน้อย 5-7 วัน ควรทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ที่เด็กป่วยสัมผัส (อุปกรณ์เครื่องเรือน เครื่องเล่น หรืออุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ) ทั้งในบ้าน สถานศึกษา สถานที่สาธารณะ แนะนำให้ทำความสะอาดด้วยสบู่ หรือผงซักฟอก ปกติก่อน แล้วตามด้วยน้ำยาฟอกผ้าขาว เช่น ไฮเตอร์ คลอรอกซ์ ทิ้งไว้ 10 นาที แล้วล้าง เช็ดแช่ ด้วยน้ำสะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง ส่วนของเล่นที่เด็กอาจเอาเข้าปากได้ ให้ทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกตามปกติ และนำไปผึ่งแดด
หากพบอาการดังที่กล่าวมาขั้นต้นควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อเป็นการร่วมกันยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปากไม่ให้ลุกลาม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร.1719
ทีมข่าว ผู้จัดการ LIVE รายงาน