xs
xsm
sm
md
lg

“หมอเดว” แนะพัฒนาครูก่อนแจกแท็บเล็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญหาขี้ผง! “สุชาติ” เมินคนค้านใช้แท็บเล็ตในการเรียนการสอน เปรยเหมือนช่วงเปลี่ยนจากกระดานชนวน มาเป็นกระดาษ ก็มีเสียงบ่น เชื่อ แท็บเล็ตช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ มูลนิธิประทีป ฝาก ศธ.และครู อย่าฮือฮาเพียงครั้งคราว ควรพัฒนาและใส่ใจในระยะยาว ส่วน “หมอเดว” ชี้ ต้องมีการพัฒนาศักยภาพครูให้มากขึ้น

วันนี้ (19 ก.ค.) ที่โรงเรียนดารามคาม กรุงเทพมหานคร ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดและเยี่ยมชมการเรียนการสอนโดยใช้แท็บเล็ตห้องสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และ ภาษาอังกฤษ ของเด็ก ป.1 ในกิจกรรมเสวนา “แท็บเล็ตช่วยตอบปัญหาการศึกษาไทยได้อย่างไร” ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า รัฐบาลเชื่อว่า นโยบายแท็บเล็ต มีความจำเป็นและเหมาะสมต่อการเรียนรู้ของเด็ก แม้ที่ผ่านมาจะมีคำถามเกี่ยวกับแท็บเล็ตมากมาย เพราะสมัยหนึ่งมีการนำกระดาษมาใช้แทนกระดานชนวน ก็มีคนไม่เห็นด้วยมากมาย แต่สุดท้ายกระดาษก็มาแทนที่กระดานชนวนในการเรียนรู้ของเด็กได้ดี แท็บเล็ตก็เช่นเดียวกัน ส่วนเรื่องที่หลายคนเป็นห่วงว่าแท็บเล็ตจะส่งผลให้เด็กติดเกมมากขึ้นนั้น ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะทาง ศธ.ได้มีระบบจัดการดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ และจะบล็อกสิ่งต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์เอาไว้ อย่างไรก็ตาม การที่ทาง ศธ.แจกแท็บเล็ต ป.1 เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่อายุ 30 กว่าปี ยังเข้าใจยุคเทคโนโลยี เมื่อเด็กกลับบ้านจะมีครูเพิ่มอีก 2 คน คือ พ่อแม่ ที่จะช่วยสอนเด็กได้

ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า นโยบายแท็บเล็ตเป็นนโยบายทีี่ดีที่รัฐบาลกำหนดให้เกิดขึ้น เป็นการลงทุน มุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้ สอดคล้องกับสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ ทัศนะของ สพฐ.จะใช้แท็บเล็ตเพื่อแก้ปัญหาการศึกษา ได้แก่ 1.แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานาน 2.ระดับมาตรฐานทางการศึกษาของไทยที่ย่ำอยู่ในสภาวะผลสัมฤทธิ์เด็กไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะเรื่องภาษา 3.แก้ปัญหาเด็กนิสัยไม่สนใจ ใฝ่รู้ รักการอ่าน เด็กติดเกมชอบเล่นเกม และ 4.แก้ปัญหาเด็กไทยไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง แท็บเล็ตจะสร้างการทำงานเป็นทีมได้หรือไม่อย่างไร

นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา นักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะผู้จัดทำเนื้อหาแท็บเล็ต กล่าวว่า แท็บเล็ตเป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยในการจัดการศึกษา ไม่ได้เป็นคำตอบ หรือยารักษาโรคได้ทุกอย่าง ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นมากกว่าตัวแท็บเล็ต คือ สื่อการเรียนการสอน เนื้อหาที่จะบรรจุในแท็บเล็ต ซึ่งหลายคนเป็นห่วงกลัวว่าไม่มีสื่อ ตนขอยืนยันว่า ในแท็บเล็ต 7 นิ้ว มีสื่อที่เหมาะสมพอสมควร มีหนังสือ 8 เล่ม มีข้อมูลกว่า 300 และมีพื้นที่เหลือพอใช้งานอื่นๆ

ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่า ทางมูลนิธิได้ร่วมมือกับทางไมโครซอฟท์ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนแก่เด็กด้อยโอกาสมา 8 ปีแล้ว เพราะคนยากคนจนถ้าไม่มีความรู้จะยากจนอยู่อย่างนั้น ซึ่งหลังจากที่ผู้ด้อยโอกาสได้เรียนรู้ นำเทคโนโลยีมาค้นคว้าให้เกิดประโยชน์ ทำให้สร้างรายได้ ดังนั้น ถ้าเราไม่อยากโง่จบเจ็บ ไม่อยากอยู่ในวัฏจักรที่ชั่วร้าย ต้องเรียนรู้ และนำแท็บเล็ตมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องของขาดแท็บเล็ต หรืออุปกรณ์ไอที แต่สิ่งที่ขาด คือ ไม่มีครูที่สามารถกระตุ้นการพัฒนา การเรียนรู้ให้แก่เด็กได้ ฉะนั้น จะทำอย่างไรให้เกิดครูที่เข้าใจเนื้อหาการสอน และเข้าใจเด็ก รวมถึงอยากฝาก ศธ. และครู ไม่ควรฮือฮาเพียงครั้งคราว แต่ควรพัฒนาและใส่ใจในระยะยาว เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ และคุณภาพของแท็บเล็ตต้องดีด้วย ไม่ใช่ใช้ไปสักระยะหนึ่ง ก็ไม่สามารถกดได้

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เด็กที่มีความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นหูหนวก ตาบอด หรือมีปัญหาเรื่องการอ่าน การเขียน สมาธิสั้น เด็กเหล่านี้จะมีจุดแข็งในด้านอื่นๆ แอบแฝงอยู่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ครูที่ต้องช่วยค้นหาความสามารถของเด็กออกมา และการนำแท็บเล็ตมาใช้ จะสามารถช่วยค้นหาความสามารถของเด็กที่ซ่อนอยู่ได้ โดยต้องเปิดโอกาสให้แก่เด็ก และครูต้องเพิ่มบทบาทในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พลิกบทบาทของตนเอง เป็นพี่เลี้ยง นำแท็บเล็ตมาสร้างกระบวนการ พัฒนาการเด็กให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งสิ่งที่ครูต้องมีทักษะ 3 ด้าน เพื่อเพิ่มเติมการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ได้แก่ 1.สอนเรื่องทักษะชีวิต 2.รู้เท่าทันสื่อ 3.สอนให้เด็กเข้าใจสังคม รู้จักยับยั่งชั่งใจ ทั้งนี้ ปัญหาขณะนี้ ต้องมีการพัฒนาศักยภาพครูให้มากกว่านี้ ในการใช้แท็บเล็ตในการสอน เพราะมีหลายส่วนที่ครูยังไม่มีศักยภาพ ความรู้ และเทคนิคในการสอน ยังคงใช้วิธีการสอนแบบเดิมๆ และต้องสอนให้ตรงกับพัฒนาการของเด็กด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น