กทม.เล็งทุบสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สะพานตากสิน หลังกรมทางหลวงชนบทไม่อนุมัติให้ขยายสะพานแก้ปัญหาคอขวดบีทีเอสข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา “สุขุมพันธุ์” พลิกแก้สร้างรางรถไฟฟ้าอีกราง พร้อมทางเดินเลื่อนอัตโนมัติอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนไปขึ้นที่สถานีสุรศักดิ์แทน หาก รมว.มหาดไทย อนุมัติพร้อมทำทันที เผย โล่งอกต่อสัญญาจ้าง กฤษฎีกา-คลัง เข้าใจ ยืนยันไม่ตอบโต้พรรคการเมืองฝั่งตรงข้าม ขอเอาเวลาไปทำประโยชน์ให้ประชาชน ระบุ ไว้รอลงจากตำแหน่งและเบื่อมากๆ ค่อยด่ากลับ
วันนี้ (31 พ.ค.) ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสะพานตากสิน (S6) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กทม.ผู้บริหารจากบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และผู้บริหารจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการระบบขนส่งมวลชน กทม.บริเวณสถานีสะพานตากสิน ซึ่งติดปัญหาคอขวดมีรางรถไฟฟ้าบีทีเอสเพียงรางเดียว ต่างจากสถานีอื่นๆ ที่มี 2 รางรถไฟฟ้าสามารถวิ่งสวนทางกันได้ โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ว่า บริเวณสถานีสะพานตากสิน (S6) มีสภาพเป็นคอขวดมีรางเดียว ทำให้รถไฟฟ้าวิ่งสวนกันไม่ได้ ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว กทม.ได้ทำหนังสือไปยังกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อขอขยายสะพานตากสินซึ่งเป็นเจ้าของสะพาน
แต่เมื่อวานนี้ ทช.ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่าไม่สามารถขยายสะพานได้ กทม.จึงจะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการยกเลิกสถานีสะพานตากสิน เพื่อนำพื้นที่มาดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าอีกหนึ่งราง ซึ่งการยกเลิกสถานีสะพานตากสิน จะกระทบกับประชาชนที่มาใช้บริการสถานีนี้ประมาณ 4 พันคนต่อวัน ซึ่ง กทม.จะไม่ยอมให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบ โดยกทม.จะสร้างสะพานทางเดินยกระดับ (Sky walk) พร้อมมีทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ(Walklator) ทั้งสองฝั่งไปยังสถานีสุรศักดิ์ (S5) ระยะทาง 700 เมตร ใช้งบประมาณ 600 กว่าล้านบาท คาดใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 5 นาที และจะสร้างระบบรางใหม่ใช้งบประมาณอีก 70 ล้านบาท ซึ่งสภา กทม.ได้อนุมัติงบประมาณทั้งสองส่วนนี้เรียบร้อยแล้วขึ้น ซึ่งหากได้รับการอนุมัติจากรับมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็พร้อมดำเนินการทันที
“การยกเลิกสถานีสะพานตากสินจะช่วยให้ลดเวลาของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายในการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ประชาชนสะดวกสบายยิ่งขึ้น และการแก้ปัญหาคอขวดนี้ เป็นเรื่องหนึ่งที่จะชี้ให้เห็นว่า เพราะเหตุใดจึงจำเป็นต้องร่วมมือกับบีทีเอสอย่างใกล้ชิด เพราะระบบบีทีเอสจนถึงสะพานตากสินซึ่งรวมถึงสถานี S5 ด้วยเป็นระบบสัมปทานจากบีทีเอส ส่วนขยายไปแม่น้ำเจ้าพระยา จนไปจบที่บางหว้าเป็นส่วนต่อขยายของ กทม.เราจำเป็นต้องปรับสถานีสะพานตากสิน และสถานีสุรศักดิ์ซึ่งอยู่ในระบบสัมปทาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนที่ใช้ในส่วนต่อขยายของ กทม.ถ้าเราไม่ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบีทีเอส เราทำไม่ได้หรอกครับ บีทีเอสไม่มีความจำเป็นต้องให้ความร่วมมือในเรื่องนี้ก็ได้ เพราะอยู่ๆ เราจะไปยุบสถานีของเขาถ้าเขาไม่ยอมซะอย่างเราจะทำไง ดังนั้น จึงชี้ให้เห็นว่า ด้วยเหตุใด เราจึงจับมือกับบีทีเอสมาโดยตลอด ยังไงเราก็ต้องจับมือต่อไป เพราะปัญหาเช่นนี้แก้ไม่ได้ถ้าเราไม่ร่วมมือกับบีทีเอส ส่วนต่อขยายของ กทม.ระบบเดิมเป็นระบบสัมปทานจะปรับเปลี่ยนอะไร เราต้องร่วมมือกับบีทีเอสจริงๆ อยากให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่าที่เราต้องร่วมมือกับบีทีเอสอย่างใกล้ชิดนี่เพราะว่ามันจะมีปัญหาเกิดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขร่วมกันเขาต้องอาศัยความร่วมมือจากเราหรือเราต้องอาศัยความร่วมมือจากเขา ดังนั้นถ้ากระทรวงมหาดไทยอนุมัติแล้วเราก็จำดำเนินการทันทีเพราะว่าสภากทม.ได้ให้ความเห็นชอบในเรื่องงบประมาณแล้ว”
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนการชี้แจงในประเด็นการต่อสัญญาจ้างเดินรถกับบีทีเอสต่อคณะต่างๆ นั้น อะไรที่เป็นปัญหาก็ชี้แจงไปที่ละจุด ซึ่ง กทม.ได้ล่าสุด กทม.ได้ไปชี้แจงยังคณะกรรมาธิการการปกครองส่วนท้องถิ่น และค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าในขณะนี้ ว่า ประเด็นที่ถูกกล่าวหาในเรื่องข้อกฎหมายไม่เป็นจริง คณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงการคลังได้ยืนยันแล้วว่า ที่ กทม.ต่อสัญญาว่าจ้างกับบีทีเอสไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน ทั้งนี้ กทม.จะชี้แจงไปเรื่อยๆจนหมดข้อกังขา ถ้้าหมดข้อกังขาทางกฎหมายแต่อาจจะยังไม่หมดข้อกังขาจากฝ่ายโน้นก็ไม่เป็นไร เพราะนี่คือการเมืองก็ไม่เป็นไร เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับกฎหมายก็ว่าไปตามเนืิ้อผ้าเราก็ชี้แจงไปหมดแล้ว
“เขาจะออกมาแถลงอะไรก็ให้เขาทำไปครับ ผมอยากทำงานอย่างเดียว ผมเหลือ 7 เดือนผมขอทำงานดีกว่าครับ ผมไม่อยากใช้เวลาที่มีค่าตอบโต้ใคร เอาตอนแข่งลงผู้ว่าฯกันเถอะครับ จะด่าตอนนั้นผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะว่าตอนนั้นผมก็พ้นจากตำแหน่่งแล้ว และถ้าผมเบื่อมากๆ ผมอาจจะด่ากลับก็ได้แต่ตอนนี้ผมไม่อยากใช้เวลาของพี่น้องประชาชนผู้เสียภาษีมาโต้แย้งทุกวันครับ ผมไม่ทำน่าเบื่อหน่ายมากครับ และก็เป็นการเสียงบประมาณโดยใช่เหตุครับ แต่ถ้าจะมีคณะต่างๆให้ไปชี้แจงเรายินดีชี้แจงแต่่ถ้าจะให้ผมตอบโต้นักการเมืองพรรคอื่นผมไม่สนใจจริงๆ ผมคิดว่าในชีวิตผมมีอะไรที่ทำที่เป็นประโยชน์มากกว่านั้น” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว
ด้าน นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนี้ กทม.จะนำเรื่องที่กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ไม่อนุญาตให้ขยายสะพานตากสินเข้าแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานตามสัญญาสัมปทานในสัปดาห์หน้า พร้อมทั้งจะนำเรื่องส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นชอบในการดำเนินการต่อไป จากนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และคณะได้เดินทางไปยังสถานีวงเวียนใหญ่ (S8) เพื่อเยี่ยมชมจุดก่อสร้างทางเดินยกระดับ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุบริเวณทางเดินข้ามแยกถนนกรุงธนบุรี-ถนนตากสิน-ถนนราชพฤกษ์ นอกจากนี้ กทม.ยังจะก่อสรา้งจุดจอดแล้วจร (Park anf Ride) บริเวณใต้สะพานทางเดินยกระดับเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าซึ่งสามารถจอดรถได้จำนวน 200 คัน อีกทั้งจะปรับปรุงพื้นที่ให้กลาย เป็นสวนหย่อมรูปแบบใหม่เพื่อให้ประชาชนได้มาพักผ่อนอีกด้วย