xs
xsm
sm
md
lg

ทีดีอาร์ไอแนะเข้มจัดระเบียบต่างด้าว เพิ่มโอกาสแรงงานไทยความรู้น้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน  ห่วงปัญหาแรงงานต่างด้าวบริหารจัดการยังไม่ดีพอ ควบคุมไม่ได้จริง ภาครัฐละเลย นโยบายไม่ชัดเจน จนเกิดวัฏจักรหมุนเวียนหลบไปอยู่นอกระบบรอขึ้นทะเบียนใหม่ เสนอเร่งรัดกลไกการบริการจัดการแรงงานต่างด้าวให้เกิดประสิทธิภาพ มีฐานข้อมูลความต้องการแท้จริง อนุญาตให้นำเข้าได้ตามจำเป็น เพื่อตรวจสอบได้ ดูแลได้ ลดปัญหาและงบประมาณที่ต้องใช้ในการดูแลทางอ้อมโดยไม่จำเป็น ซึ่งได้ไม่คุ้มเสีย ย้ำประสิทธิภาพที่มาช้ายิ่งตัดโอกาสแรงงานไทยความรู้น้อยที่อยู่ในฐานแรงงานระดับล่างนี้
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการใช้แรงงานต่างด้าวได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างตลาดแรงงานที่บางอุตสาหกรรมยังจำเป็นต้องใช้ มีการขออนุญาตนำเข้า แต่สิ่งสำคัญคือจะบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างไรจึงไม่ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในฐานแรงงานระดับล่างนี้

ทั้งนี้ ประเทศไทยใช้แรงงานต่างด้าวระดับล่างมากกว่าร้อยละ 5 หรือมากกว่า 2 ล้านคน ในลักษณะของงาน 3D คือ สกปรก ยากลำบาก และอันตราย โดยมีจำนวนผู้ที่ทำงานผิดกฎหมายมากกว่าถูกกฎหมาย ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการกำกับดูแล การคุ้มครองให้เป็นไปตามกฎหมาย ตลาดแรงงานระดับนี้จึงถูกแบ่งแยกออกไปจากตลาดแรงงานทั่วไป จึงเป็นการลดโอกาสคนไทยที่มีการศึกษาน้อยจะเข้าไปแข่งขันลดลงไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่คนไทยระดับนี้ก็ยังมีที่ว่างงานในทุกกลุ่มจังหวัด

การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างไร้ทิศทาง ขาดการเอาใจใส่จากผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องจากรัฐบาล มีแต่จะส่งผลให้ผลดีทางเศรษฐกิจที่ได้จากการจ้างแรงงานราคาถูกจะถูกหักล้างด้วยผลเสียต้นทุนสังคม ด้านสาธารณสุข ด้านความมั่นคงมนุษย์ และในที่สุดกลายเป็นทำลายความมั่นคงของประเทศ ผลที่เกิดจึงอาจได้ไม่คุ้มเสีย

ดร.ยงยุทธกล่าวว่า 1-2 ปีที่ผ่านมาเราละเลยเรื่องการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างชัดเจน เห็นได้จากจำนวนแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายที่หายไปจากระบบราว 30% หรือเกือบ 4 แสนคนจากจำนวนที่มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวครั้งหลังสุดที่มียอดขึ้นทะเบียนราว 1.3 ล้านคน แต่ในปี 2554 ลดลงเหลือราว 9 แสนคน คนเหล่านี้ไม่ได้กลับประเทศแต่กลับไปอยู่อย่างผิดกฎหมาย พอเป็นลักษณะนี้เรามักใช้วิธีการเปิดให้มีการจดทะเบียนใหม่ เป็นวัฏจักรอย่างนี้ ทั้งที่หลักการของหน่วยงานรับผิดชอบคือ สำนักบริหารแรงงานต่างด้าวกระทรวงแรงงาน ต้องการให้มีแรงงานถูกกฎหมายมากกว่าผิดกฎหมาย

ที่เป็นเช่นนี้เพราะที่ผ่านมายังไม่มีนโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจนและต่อเนื่องเลย และหน่วยงานที่รับผิดชอบยังขาดกลไกที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพได้ จึงเกิดปัญหาและแก้ปัญหาแบบซ้ำเดิมกระทรวงแรงงานไม่ให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อข้อมูลในการบริหารแรงงานต่างด้าว โดยไม่ได้ทำการศึกษา/สำรวจอย่างชัดเจนเกี่ยวกับความต้องการใช้แรงงานที่แท้จริง ซึ่งความชัดเจนของจำนวนแรงงานที่คนทำไทยทำอยู่กับส่วนที่ต้องการเพิ่มจากต่างชาติในภาพรวมนั้นยังเกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีอาเซียนที่คาดว่าจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้อีก

ดร.ยงยุทธแสดงความกังวลต่อแนวทางการเตรียมความพร้อมด้านแรงงานเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของกระทรวงแรงงาน ซึ่งจะมีการจัดระบบเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย หรืออาชีพใดที่จะเปิดให้แรงงานต่างด้าวทำได้ โดยระบุว่าอาชีพที่มีการเปิดให้ต่างด้าวขอใบอนุญาตทำงานในปัจจุบันนั้น เป็นภาพลวงตา เพราะตราบใดที่ยังมีข้อสุดท้ายที่เปิดช่องไว้สำหรับอาชีพอื่น ๆ นั่นเท่ากับว่า แท้จริงแล้วไทยเปิดเสรีทุกอาชีพอยู่ดี

ตรงนี้เป็นจุดอ่อนของกระทรวงแรงงานที่ยังไม่ได้ศึกษาความจำเป็นและความต้องการใช้แรงงานแท้จริงในแต่ละอาชีพเสียก่อน ซึ่งในกฎหมายเดิมอาชีพสงวนสำหรับคนไทย 32 อาชีพนั้น มีฐานของตลาดแรงงานเดิมและความจำเป็นของคนไทยอยู่ หากเปิดเสรีโดยไม่ดูผลกระทบให้ชัดเจน อาจมีผลเสียรุนแรงในระยะยาว เพราะเมื่อเปิดไปแล้วการปรับเปลี่ยนมักทำได้ยาก การพิจารณาจึงต้องยึดหลักการปกป้องอาชีพสำหรับคนไทยก่อน และการที่ต่างชาติบอกว่าเสรีก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเข้ามาได้ง่ายๆ เพราะก็ต้องเข้ามาภายใต้กฎหมายภายในประเทศกำหนด เราจึงไม่จำเป็นต้องไปเปลี่ยนกฎหมายบางอย่างที่ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน

“การจะปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกบางอาชีพควรจะต้องมีการศึกษาให้ชัดเจนก่อน ต้องศึกษาว่าอาชีพอะไรมีคนไทยรองรับอยู่เท่าไหร่ และงานที่เขาทำอยู่นั้นมีมากน้อยเพียงใด อย่าไปมองเฉพาะว่าเป็นงานทั้งปี เพราะหลายอาชีพ ที่ผ่อนผันไป กลายเป็นงานที่คนไทยทำเป็นอาชีพเสริม โดยเฉพาะอาชีพภาคเกษตรหรือภาคนอกระบบซึ่งเป็นการทำงานตามฤดูกาล ฉะนั้นการออกกฎหมายบางอย่างต้องดูให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อคนไทยกลุ่มนี้และเป็นคนที่ยกระดับตัวเองได้ยากมาก เพราะความรู้น้อย” ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ กล่าว

จากข้อมูลมีแรงงานประมาณ 13-14 ล้านคนมีระดับการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ในจำนวนนี้ 7 ล้านคนไม่จบระดับประถม อาชีพของเขาคือการใช้แรงงาน หรือการทำงานฝีมือที่ถ่ายทอดกันมา แรงงานแท้จริงในภาคเกษตร มีไม่เกิน 1.7 ล้านคน แต่ในช่วงฤดูกาลมีคนงานเพิ่มเป็น 3 ล้านคน นั่นหมายความว่า คนเกือบ 2 ล้านคนที่เพิ่มมานั้นคือคนที่เขามาหารายได้เสริมในช่วงฤดูกาล จึงอยากให้ดูตลาดให้ชัดเจน เพราะอาชีพจะผูกโยงกับวิถีวัฒนธรรมของเขาด้วย การเสริมรายได้ มิฉะนั้นเราจะทำให้คนไทยยากจนลงไปอีก

ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ ย้ำว่า ไม่ได้คัดค้านการเปิดเสรี แต่ต้องรู้ให้ชัดว่าโควตาที่จะเปิดนั้นเป็นอย่างไร ต้องไม่ให้กระทบกับฐานแรงงานในอาชีพที่คนไทยทำอยู่ ต้องเอาเข้ามาเฉพาะส่วนที่ขาดเท่านั้นไม่ใช่เข้าได้อย่างเสรี แต่ที่ผ่านมาการกำหนดโควต้าของไทยมาจากการสอบถามความต้องการของนายจ้าง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะคนที่จะกำหนดโควตาต้องเป็นคนที่เห็นภาพรวมของทั้งตลาดแรงงาน อาชีพไหนที่ยังจำเป็นสำหรับคนไทยเราก็ควรต้องสงวนไว้

สิ่งที่รัฐต้องทำโดยเร่งด่วน คือ การเอาจริงเอาจังกับการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพให้ได้ ดูแลสิทธิของแรงงานต่างด้าวให้ครบถ้วน เช่น สิทธิในการรวมตัว การต่อรอง การศึกษา การรักษาพยาบาล การประกันสังคม ฯลฯ เพื่อให้เป็นแรงงานคุณภาพเช่นเดียวกับคนไทย เมื่อเป็นเช่นนี้สภาพแวดล้อมในการทำงานจะดีขึ้น จะทำให้ทัศนคติของคนไทยต่องาน 3D เปลี่ยนไปได้ แรงงานไทยจะมีโอกาสทำงานได้มากขึ้นในงานบางประเภท ซึ่งใช้แรงงานต่างด้าวอยู่ในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น