xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯเผยผลวิจัยนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ด้อยคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“ศรีราชา” ชี้ คุณภาพการศึกษาไทยแย่กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่คุณภาพนักเรียนด้อยลงในทุกวิชาเรียน แนะทางแก้ รื้อระบบ-จัดหลักสูตรใหม่-ปล่อย ร.ร.จัดการศึกษาตามกลไกตลาด-แก้ รธน.ให้เหลือจัดเรียนฟรีไม่น้อยกว่า 9 ปี

วานนี้ (16 ก.พ.) นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมอภิปรายในผลการวิจัยเรื่อง “นโยบายเรียนดีเรียนฟรี 15 อย่างมีคุณภาพ” ที่ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มอบหมายให้ นาวาตรีหญิง ดร.กิตติยา เอ็ฟฟานส นักวิชาการอิสระ เป็นผู้ดำเนินการวิจัย โดยระบุว่า การวิจัยใช้วิธีการผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ซึ่งพบว่านโยบายดังกล่าว “ไม่ฟรีจริง เรียนไม่ดี และด้อยคุณภาพ” โดยกระทรวงศึกษาฯได้ใช้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของ ร.ร.ขนาดกลางมาจ่ายให้กับ ร.ร.ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งไม่ตรงกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ผู้ปกครองมีความเข้าใจว่าเรียนฟรี หมายถึงฟรีทุกรายการ ในขณะที่รัฐบาลนิยามการเรียนฟรีเพียง 5 รายการ คือ ชุดเครื่องแบบนักเรียน หนังสือเรียนแปดกลุ่มสาระ อุปกรณ์การเรียน กิจกรรมการพัฒนาผู้เรียน และเงินค่าเล่าเรียน ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายแฝงอื่นที่ ร.ร.เรียกเก็บเพิ่ม เช่น ค่าแอร์ ค่าเรียนเสริมคอมพิวเตอร์ ซึ่งทั้งฝ่ายครูและผู้ปกครองเห็นว่านโยบายนี้ไม่ทำให้เด็กเรียนดีขึ้น และไม่ได้ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองจริงเพราะยังต้องจ่ายเพิ่มตามรายการที่ ร.ร.ขอรับการสนับสนุนอีก

ส่วนผลการประเมินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ.พบว่า คะแนนวิชาหลักของนักเรียนทั้งสามช่วงชั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างเป็นระบบ อีกทั้งคะแนนของนักเรียนทั้ง 3 ช่วงชั้นและทุกวิชามีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าครึ่ง และจากการประเมินรอบสองของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ.ตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพผู้เรียนในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง คะแนนจากโครงการประเมินผลนักเรียนระดับนานาชาติ (พีไอโอสเอ) พบว่า ช่วง 3 ปีก่อนประกาศนโยบายเรียนฟรี 15 ปี คะแนนของทั้ง 3 วิชา มีแนวโน้มลดลง และเริ่มกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในการทดสอบครั้งสุดท้าย ขณะที่ผลการจัดอันดับด้านการศึกษาจากสถาบันไอเอ็มดี พบว่า คุณภาพผู้เรียนไม่ดีขึ้น มีแนวโน้มลดต่ำลงหลังจากที่ใช้นโยบายนี้ มีเพียงผลการประเมินจากกระทรวงศึกษาธิการของไทยเท่านั้นที่ชี้ว่าผู้เรียนมีคุณภาพที่ดีขึ้น 7 ใน 8 กลุ่มสาระวิชา งบประมาณที่ช่วยเรื่องอุปกรณ์การเรียนเครื่องแบบและหนังสือเรียนไม่ได้ทำให้เรียนดีขึ้น

นายศรีราชา กล่าวว่า จากผลการวิจัยดังกล่าวได้สะท้อนว่า หลังการปฏิรูปการศึกษาที่มีการใช้ระบบทดสอบทางการศึกษาแล้ว พบว่า การศึกษาไทยแย่ลงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการบริหารจัดการของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งจัดการศึกษาเรียนฟรีให้กับคนที่ไม่ต้องการ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ไปเติมเต็มให้กับคนที่ยากจนหรือต้องการความช่วยเหลือ ดังนั้น จึงเห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการควรจะทบทวนระบบการศึกษาทั้งระบบ ก่อนที่ระบบดังกล่าวจะนำเด็กไปสู่ความล้มเหลวในการเรียนและนำประเทศไปสู่วิกฤต
 
โดยเห็นว่าแนวทางการแก้ไจปัญหาควรมีการปล่อยให้โรงเรียนจัดการศึกษาเป็นไปตามกลไกของตลาดโดยโรงเรียนใดมีความสามารถในการจัดการศึกษาก็ปล่อยให้ดำเนินการควบคู่ไปกับกระทรวงศึกษาจัดระบบการศึกษาของแต่ละโรงเรียนไม่ให้มีความใกล้เคียงกัน มีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอบ โดยเน้นให้เด็กรู้จักคิดวิเคราะห์มากกว่ามุ่งเน้นให้เด็กเรียนเพื่อจดจำ และนำไปสอบและควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่บัญญัติว่ารัฐต้องจัดการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปีอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ และไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพราะการปฏิบัติจริงในขณะนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยแก้ไขถ้อยคำเป็นรัฐต้องจัดให้มีการเรียนอย่างทั่วถึง ไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่น้อยกว่า9 ปี ซึ่งจะเป็นการเปิดกว้างว่าในกรณีที่มีความพร้อมเรื่องงบประมาณ หากมีจำนวนมากก็สามารถจัดได้เกินกว่า 9 ปีขึ้นไป

“คิดว่าถึงเวลาที่สภาการศึกษา และ รมว.ศึกษาธิการ ต้องทบทวนระบบการบริหารและหลักสูตร ที่ให้มีการเรียนมากและน้อยไปในบางเรื่อง ซึ่งการได้พูดคุยส่วนตัวกับ รมว.ศึกษาฯ ก็มีหลายเรื่องที่มีความเห็นตรงกัน เช่น การปรับปรุงหลักสูตร เรื่องการสอบที่จะเป็นมาตรฐาน เรื่องการใช้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเป็นตัวตัดสินในการเลื่อนขั้นเงินเดือนของครู แต่ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยก็เป็นจุดอ่อนที่ทำให้การพัฒนาความต่อเนื่องของระบบการศึกษามีปัญหา เพราะเมื่อเปลี่ยนรมว.ครั้งหนึ่งนโยบายทางการศึกษาจก็จะเปลี่ยนไป” นายศรีราชา กล่าวและว่า หลังจากนี้ก็จะมีการเสนอผลงานวิจัยดังกล่าวไปให้ รมว.ศึกษาธิการ และเผยแพร่ต่อสาธารณชนต่อไป

วันเดียวกัน นายอำนวย สุนทรโชติ ประธานชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่าน นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการได้มีแนวนโยบายเกี่ยวกับการรับนักเรียนเข้าเรียนในสถานศึกษา โดยจะเปิดห้องรับเด็กฝากโดยเฉพาะ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อจากเงินแป๊ะเจี๊ยะเป็นเงินบริจาค เนื่องจากเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ที่บัญญัติบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา อายุ เพศ ความพิการสภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม รวมทั้งการศึกษาอบรม โดยหากผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบแล้ว พบว่า ผิดรัฐธรรมนูญนั้นนโยบายดังกล่าวนี้จะต้องหยุดดำเนินการทันที อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการยังประกาศชัดเจนว่าจะเปลี่ยนที่นั่งเรียนของนักเรียนเป็นเงิน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ได้ไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อนางวิสา เบ็ญจะมโน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และความเสมอภาคของบุคคล เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ และในสัปดาห์หน้าตนจะยื่นฟ้องศาลปกครองอีกด้วย
โฆสิต ชี้การกระจายโอกาสการศึกษาไทยดีขึ้น แต่คุณภาพแย่ลง

**สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดการสัมมนาวิชาการประจำปี 2554 หัวข้อ “ยกเครื่องการศึกษาไทย : สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดการสัมมนาวิชาการประจำปี 2554 หัวข้อ “ยกเครื่องการศึกษาไทย : สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดย นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จในการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับคนชนบทและคนยากจน แต่แนวโน้มคุณภาพการศึกษาย่ำแย่ลง เห็นได้จากเสียงสะท้อนของนายจ้างไม่พอใจคุณภาพบัณฑิต และผลการทดสอบของนักเรียนไทยเทียบกับต่างประเทศ

รวมทั้งปัญหาซื้อขายวุฒิการศึกษา และคุณภาพครู ขณะที่ในการพัฒนาเศรษฐกิจทศวรรษหน้า จำเป็นต้องยกระดับคุณภาพการศึกษาเป็นความสำคัญสูงสุด เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ โดยเห็นว่าความหวังมีอย่างน้อย 2 ประการ คือ การกระจายอำนาจการบริหารงบประมาณ หรือการจัดหลักสูตรให้โรงเรียนเพื่อเพิ่มความคล่องตัว และการสร้างความรับผิดชอบของโรงเรียนต่อการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ

ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงปัญหาของระบบการศึกษาไทย ว่า ในทุกภาคส่วนของการศึกษาต่างประสบปัญหา ทั้งหน่วยงานรัฐ โรงเรียน ครู นักเรียน และภาคธุรกิจ แต่เมื่อพิจารณาการลงทุนด้านการศึกษาของประเทศไทย พบว่ามีการจัดสรรงบประมาณให้กระทรวงศึกษาธิการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 2 เท่าภายใน 8 ปี มีงบประมาณการศึกษาต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในสัดส่วนร้อยละ 4 สูงกว่าหลายประเทศ รวมทั้งสูงกว่าสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย ขณะที่เมื่อพิจารณาเวลาเรียนของนักเรียนไทย พบว่า เฉลี่ยไม่น้อยกว่าหลายประเทศ เช่นวิชาวิทยาศาสตร์ เรียนมากกว่าญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐฯ แต่ผลสัมฤทธิ์ต่ำกว่า อัตราการคงอยู่ในโรงเรียนต่ำลง คะแนนทดสอบลดลงต่อเนื่อง และต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ชี้ให้เห็นว่าปัญหาคุณภาพการศึกษาไม่ใช่เกิดจากการขาดทรัพยากร

ดร.อัมมาร กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาการศึกษา ว่า จะต้องมีการสร้างความรับผิดรับชอบของระบบการศึกษาตลอดทุกขั้นตอน โดยกำหนดเงื่อนไขขอบเขตความรับผิดชอบ และมีการวัดผลสัมฤทธิ์ของงานที่ชัดเจนและโปร่งใส ส่งผลกระทบต่อผู้รับผิดชอบ เช่น วางระบบการวัดผลของการศึกษาต่อสติปัญญาของเด็ก เพื่อชี้วัดประสิทธิภาพของครูและโรงเรียน ซึ่งเชื่อว่าหากมีการวัดผลที่ดีแล้วจะแก้ปัญหาทางการศึกษาได้

ทั้งนี้ มองนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหลายเรื่องไม่มีผลกระทบต่อการแก้ปัญหาข้างต้น รวมทั้งเรื่องการแจกแท็บเล็ตที่เป็นเครื่องมือทางการศึกษาซึ่งหากใช้ได้ดีก็จะเป็นประโยชน์ และเรื่องการแก้ปัญหาหนี้สินครู ขณะที่แนวทางการเปิดรับเงินบริจาคเพื่อแลกที่เรียนนั้น เห็นว่า ปัจจุบันโรงเรียนมีงบประมาณมากอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น