xs
xsm
sm
md
lg

“แก่งจันทร์โมเดล” อ.ปากชม ต้นแบบแก้ปัญหาขาดครูในโรงเรียนเล็กชนบท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เลย - “แก่งจันทร์โมเดล” อำเภอปากชม เมืองเลย อีกทางออกการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทที่ขาดแคลนครูทั้งจำนวนเด็กก็มีน้อยเพราะแห่เข้าไปเรียนในสถานศึกษามีชื่อในตัวเมือง ทำให้การจัดสรรงบประมาณเข้าไม่ถึง กลุ่มครูในโรงเรียนขนาดเล็ก 4 แห่งจึงหาทางออกโดยรวมกลุ่มเป็นหนึ่งเดียวเพื่อจัดการเรียนการสอนใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพระบบการศึกษาของเด็กที่ด้อยโอกาส เผยหลังร่วมกันบริหารการสอนทำให้การเรียนของเด็กมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัญหาหนักอกประการหนึ่งของวงการการศึกษาไทยปัจจุบัน คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาจำนวนมากที่อยู่ตามชนบทนิยมเข้ามาเรียนหนังสือในตัวเมือง หรือโรงเรียนในตัวอำเภอ ทำให้โรงเรียนประจำหมู่บ้านมีจำนวนนักเรียนลดน้อยลง บางแห่งเหลือไม่ถึง 10 คน ทั้งๆ ที่ในอดีตเคยเป็นโรงเรียนขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ จึงทำให้เป็นภาระด้านงบประมาณที่จะจัดสรรลงมาดูแล ไม่คุ้มค่า

ขณะที่คุณภาพการศึกษาของเด็กนักเรียนตามชนบทเองก็ลดต่ำลง ทำให้โรงเรียนหลายแห่งถูกยุบลงไปรวมกับโรงเรียนข้างเคียง เป็นการแก้ปัญหาการจัดการรูปแบบหนึ่ง แต่ยังมีบุคลากรทางการศึกษาหลายคนที่คลุกคลีอยู่กับโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังตกอยู่ในสภาวะปัญหา พยายามคิดค้น ดิ้นรนหาวิธีแก้ปัญหา หรือทางเลือกอื่นๆ เพื่อไม่ให้โรงเรียนที่พวกเขาผูกพันต้องถูกยุบ แม้พวกเขาจะอยู่ในชนบทห่างไกล ติดขอบแม่น้ำโขงชายแดนไทย-ลาว

“แก่งจันทร์โมเดล” เริ่มคุ้นหูคนในวงการการศึกษาของจังหวัดเลยมาร่วม 2 ปี เป็นการรวมกลุ่มครูของโรงเรียนขนาดเล็กในตำบลหาดคัมภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลย เพื่อจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศนำไปปรับใช้

เครือข่ายแก่งจันทร์ ก่อเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาครูไม่ครบชั้น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก และมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก โดยริเริ่มจากนายสามารถ วาทะนรพันธ์ ผอ.โรงเรียนบ้านปากมั่งห้วยทับช้าง นายสมชาย ระติเดช ผอ.โรงเรียนบ้านนาโม้ (รักษาการ ผอ.ในขณะนั้น) นายสมาน นาวาสิทธิ์ ผอ.โรงเรียนบ้านหาดคัมภีร์ และนางสุพรรณี กุลภา ผอ.โรงเรียนบ้านคกเว้า ร่วมกับนายวิรัตน์ พุทธทองศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เลย เขต 1 ประชุมปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับสภาพ ปัญหา และแนวทางการจัดการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็ก

ในที่สุดได้ข้อสรุปร่วมกันว่าการพัฒนาการจัดการศึกษาในอนาคตโรงเรียนขนาดเล็กควรจะร่วมมือกันจัดการด้านศึกษา จากนั้นจึงนำไปสู่การประชุมคณะครูทั้ง 4 โรงเรียนร่วมกันเพื่อรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาความเป็นไปได้ในการร่วมกันจัดการศึกษา เมื่อผู้บริหารและคณะครูทั้ง 4 โรงเรียนมีความเห็นพ้องกันในการร่วมกันจัดการศึกษา จึงเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตำบลหาดคัมภีร์ ประกอบด้วย ผู้บริหาร อบต.หาดคัมภีร์ ประธานสภา อบต. ประธานกรรมการสถานศึกษาทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิกสภาอบต.ทั้ง 4 หมู่บ้าน เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารโรงเรียนเพื่อรับทราบ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพ ปัญหา และแนวทางในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กทั้ง 4 แห่ง

ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยและพร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ จากนั้นจึงร่วมกันตั้งคณะทำงานประชาสัมพันธ์ เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ปกครองนักเรียนซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลหลักที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ต่อมาคณะครูทั้ง 4 โรงเรียนจึงร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาร่วมกัน โดยใช้ชื่อโครงการว่า โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กในตำบลหาดคัมภีร์ “เครือข่ายแก่งจันทร์” หรือเรียกกันติดปากว่า “แก่งจันทร์โมเดล” โดยใช้รูปแบบการร่วมกันเป็นเครือข่าย ดังนี้ ทั้ง 4 โรงเรียนร่วมกันจัดการเรียนการสอน โดยโรงเรียนบ้านนาโม้สอนชั้น อนุบาล 1,2 (รวมเป็น 1 ห้อง) และชั้น ป.1-2 รวมเป็น 3 ห้องเรียน โรงเรียนบ้านปากมั่งห้วยทับช้าง สอนชั้นอนุบาล 1, 2 (รวมเป็น 1 ห้อง) และชั้น ป.4 แยกเป็น 2 ห้อง รวมเป็น 3 ห้องเรียน

ขณะที่โรงเรียนบ้านหาดคัมภีร์ สอนชั้น ป.5-6 รวมเป็น 2 ห้องเรียน โรงเรียนบ้านคกเว้า สอนชั้นอนุบาล 1, 2 (จากโรงเรียนบ้านหาดคัมภีร์ และคกเว้า) (รวมเป็น 1 ห้อง) และชั้น ป.3 รวม 2 ห้อง

หลังจากร่วมกันจัดการศึกษาแล้วสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนครูได้เป็นอย่างดี โดยโรงเรียนบ้านนาโม้มี 4 ห้องเรียน (ป.1 แยกเป็น 2 ห้อง) จัดครูเข้าสอน 5 คน โรงเรียนบ้านปากมั่งห้วยทับช้าง มี 3 ห้องเรียน (ป.4 แยกเป็น 2 ห้อง) จัดครูเข้าสอน 4 คนโรงเรียนบ้านหาดคัมภีร์ มี 2 ห้องเรียน จัดครูเข้าสอน 4 คน และโรงเรียนบ้านคกเว้า มี 2 ห้องเรียน จัดครูเข้าสอน 4 คน

โดยการจัดครูเข้าสอนคำนึงถึงความถนัดของครูเป็นสำคัญ เช่นนายสังวาล สอนสุภาพ ครู รร.บ้านหาดคัมภีร์ มีความเชี่ยวชาญในการสอนชั้น ป.3 ก็เดินทางไปสอนประจำที่โรงเรียนบ้านคกเว้า เป็นต้น

สำหรับการเดินทางไปเรียนของนักเรียน เครือข่ายแก่งจันทร์ได้รับการสนับสนุนรถตู้จากสำนักงานเขตพื้นทีการศึกษาประถมศึกษาเลย เขต 1 จำนวน 1 คัน สำหรับรับส่งนักเรียนไปเรียนยังศูนย์การเรียนทั้ง 4 แห่งตามรูปแบบที่กำหนดไว้ ซึ่งรถวิ่งรับส่งนักเรียนทั้งเช้าและเย็นรวม 8 เที่ยว ภาคเช้าเริ่มตั้งแต่เวลา 06.30 น. ใช้เวลารับส่งรวม 1 ชั่วโมง 40 นาที โดยทั้ง 4 โรงเรียนร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายประมาณ เดือนละ 9,000 บาท

นายสมาน นาวาสิทธิ์ ผอ.โรงเรียนบ้านหาดคัมภีร์ กล่าวว่า ผลจากการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ดังกล่าว เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จากเดิมที่นักเรียนในตำบลหาดคัมภีร์ ส่งเข้าแข่งขันด้านวิชาการไม่เคยได้รับรางวัลใดๆ แต่หลังจากผ่านการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ นักเรียนชั้น ป.6 ของเครือข่ายได้รับรางวัลการแข่งขันทักษะภาษาอังกฤษในงานวันวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เมื่อวันที่ 17 ส.ค.54 จึงเป็นการพิสูจน์ในเบื้องต้นว่า การจัดการศึกษารูปแบบนี้ได้ผลเป็นอย่างดี

และที่สำคัญผลจากการจัดการศึกษารูปแบบนี้จะทำให้เกิดความสมัครสมาน สามัคคีกันในชุมชน แก้ปัญหากันการทะเลาะกันระหว่างเยาวชนของแต่ละหมู่บ้าน เพราะเด็กมาอยู่โรงเรียนด้วยกัน เป็นเพื่อนกันทั้งตำบล และจะมีกิจกรรมผูกเสี่ยวระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง รวมทั้งผู้ปกครองด้วย

นางจิตราวดี พานิช หรือครูไผ่ หนึ่งในครูที่รับผิดชอบสอนชั้น ป.5-6 เล่าว่า เดิมนั้นตำแหน่งอยู่ที่โรงเรียนบ้านคกเว้า สอนวิชาภาษาอังกฤษ ต้องสอนนักเรียนหลายชั้นเรียนในห้องเดียว ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนการสอนทำได้ไม่เต็มที่ หลังจากมีการแยกนักเรียนตามโครงการเครือข่ายแก่งจันทร์ ตนก็ถูกมอบหมายให้มาสอนชั้น ป.5-6 ที่โรงเรียนบ้านหาดคัมภีร์ รู้สึกว่าได้ใช้ความรู้ความสามารถในการสอนอย่างเต็มที่ มุ่งมั่นสอนเฉพาะนักเรียนชั้น ป.5-ป.6 ทำให้ผลการเรียนของนักเรียนออกมาดีขึ้น

บางคนเคยมาโรงเรียนไม่สม่ำเสมอ ปัจจุบันกลายเป็นคนขยันเรียน ตื่นเช้าออกมารอรถตั้งแต่ 6 โมง ทำให้ครูมีความสุขมากขึ้นด้วย แม้อาจต้องเดินทางมาทำงานไกลกว่าเดิม

ขณะที่ นางถาวร สร้อยโสม อายุ 41 อยู่บ้านเลขที่ 23 หมู่ 7 บ้านห้วยทับช้าง ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม ผู้ปกครองนักเรียน ระบุว่า ลูกชายเรียนอยู่โรงเรียนบ้านปากมั่งห้วยทับช้าง แต่พอย้ายไปเรียนชั้น ป.5 ที่โรงเรียนบ้านหาดคัมภีร์ รู้สึกว่ามีผลการเรียนดีขึ้น มีการบ้านมาทำทุกวัน และยังสบายใจเรื่องการเดินทางไปโรงเรียน มีรถรับ-ส่งตลอด

ด.ญ.มสัสนันท์ บัวนาค นักเรียนชั้น ป.4 เล่าว่า หลังจากย้ายมาเรียนรวมกับเพื่อนๆต่างหมู่บ้านที่โรงเรียนแห่งนี้ คุณครูมีเวลาเอาใจใส่ สอนใกล้ชิดมากขึ้น รู้สึกสนุกกับการเรียน ได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ อีกหลายคน

อย่างไรตาม แม้ว่าโครงการนี้กำลังดำเนินไปด้วยดี แต่โจทย์ใหญ่ของผู้บริหารโรงเรียนในเครือข่ายแก่งจันทร์กำลังขบคิดคือ ทำอย่างไรจะให้ระบบนี้ยั่งยืนตลอดไป นายสมาน นาวาสิทธิ์ หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการมั่นใจว่า ขณะนี้เสียงตอบรับจากผู้ปกครองดีมาก พร้อมจะสนับสนุนเต็มที่ หากผู้ปกครองเด็กเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี พวกเขาก็จะช่วยกันปกป้องให้เดินหน้าต่อไป สร้างความเข้มแข็ง

จนกลายเป็น “ธรรมนูญการศึกษาของชุมชน” แม้ตนและเพื่อนครูผู้บริหารโรงเรียนจะพ้นหน้าที่ หรือเกษียณอายุราชการ หรือย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้วก็ตาม ใครจะมาเปลี่ยนแปลงคงทำได้ยาก


กำลังโหลดความคิดเห็น