สอศ.เตรียมหารือคุรุสภา ช่วยเหลือ นศ.ปทส.กว่า 2 พันคนที่จบแล้วแต่ไม่สามารถเรียนครูได้ เบื้องต้นจะเสนอให้เทียบเท่าหลักสูตร 5 ปี หวังให้ นศ.ปทส.จบแล้วได้รับตั๋วครูทันที
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เตรียมหารือกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรครูเทคนิคชั้นสูง (ปทส.) ซึ่งมีประมาณ 2,000 กว่าคนที่กำลังศึกษาอยู่ในปัจจุบัน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะไม่สามารถเป็นครูได้ โดยเบื้องต้นจะเสนอขอให้หลักสูตร ปทส.เทียบเท่ากับหลักสูตรครู 5 ปี เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้ต้องเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 2 ปี และ ปทส.3 ปี ดังนั้น เวลาเรียนก็เท่ากับหลักสูตรครู 5 ปี แต่ต่างกันตรงที่หลักสูตร ปทส.จะต้องเรียนสองช่วง ส่วนหลักสูตรครู 5 ปีที่เรียนครั้งเดียว ซึ่ง สอศ.คงต้องสอบถามด้วยว่ามาตรฐานของคุรุสภาจะต้องเรียนวิชาใดบ้างเพื่อที่ สอศ.ก็จะจัดให้เรียนตามนั้น รวมถึงจะหารือถึงเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูด้วยว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับใบอนุญาตฯ ด้วย ซึ่งเรื่องนี้จะต้องให้ได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้
“ผมตั้งใจอยากให้เด็กที่เรียนหลักสูตร ปทส.ได้รับใบอนุญาตฯ ได้เลยเหมือนหลักสูตรครู 5 ปี แต่ถ้าหากไม่สามารถทำได้ก็คงไม่มีใครอยากเข้ามาเรียนหลักสูตร ปทส.เพราะเรียนไปก็เป็นครูไม่ได้ ทั้งๆ ที่ตั้งใจอยากจะเข้ามาเป็นครู ดังนั้นถ้าคุรุสภาต้องการอย่างไร ทาง สอศ.ก็พร้อมปฏิบัติตาม นอจากนี้ในปีการศึกษา 2555 นั้น สอศ.จะยังไม่เปิดรับนักศึกษาหลักสูตร ปทส.เพราะจะต้องแก้ปัญหาเรื่องเด็ก ปทส.จบแล้วเป็นครูไม่ได้ให้เรียบร้อยก่อน ไม่เช่นนั้นหากเปิดรับ และเด็กเข้าไปเรียนจนจบแล้วก็จะเสียประโยชน์ไปโดยใช่เหตุ” นายชัยพฤกษ์ กล่าว
เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ส่วนกรณีที่เมื่อมีการจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา ซึ่งจะจัดการเรียนการสอนถึงระดับปริญญาตรีนั้น หากสถาบันใดเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ก็สามารถนำหลักสูตรครูช่างไปเปิดสอนในระดับปริญญาตรีได้ ซึ่งกว่าสถาบันการอาชีวศึกษาจะเปิดสอนได้ก็คงประมาณปลายปี 2555 อย่างไรก็ตาม สอศ.ยังคงต้องการคนที่เป็นเรื่องช่าง และเป็นวิชาครูด้วยจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนครูช่างด้วยการใช้คนที่เป็นเรื่องช่างมาสอนแทนไปก่อน ซึ่งปัจจุบัน สอศ.จ้างครูช่างที่ไม่มีใบอนุญาตฯ ประมาณ 7,000 คน และเรื่องนี้เป็นประเด็นที่จะต้องนำไปหารือกับคุรุสภาต่อไปว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร ที่จะให้คนกลุ่มนี้มีใบอนุญาตฯ ทั้งนี้อาจจะเสนอให้เปิดเป็นหลักสูตรพิเศษอบรมบุคคลเหล่านี้ หรือให้สอบ 9 มาตรฐานวิชาชีพครู แต่ทั้งหมดก็คงต้องขึ้นอยู่กับคุรุสภาว่าจะตัดสินใจอย่างไร