xs
xsm
sm
md
lg

เล็งเปิดช่องทางรับคนไม่จบครู แต่มีความสามารถมีสิทธิ์ได้ตั๋วครูหากผ่านสอน 3 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อภิชาติ” เล็งหารือคุรุสภาเปิดช่องทางพิเศษให้คนมีความสามารถแต่ไม่จบวุฒิครูได้เข้ามาทำหน้าที่สอน 3 ปี และประเมินคุณภาพการสอนว่าสมควรได้ตั๋วครูหรือไม่ ตามแนวทาง รมว.ศธ.ที่หวังแก้ปัญหาขาดครู ด้าน ประธานบอร์ดคุรุสภา ชี้ ที่ผ่านมา คุรุสภาเปิดช่องทางแต่กำหนดระยะเวลา 2 ปี แต่หากจะทำเฉพาะกรณีดังกล่าวต้องปรับข้อบังคับใหม่ พร้อมติงแนวคิดนี้แก้ปัญหาขาดครูได้ระยะสั้นๆ เท่านั้น

นายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เร็วๆ นี้ตนจะทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เพื่อขอให้เปิดช่องทางพิเศษอนุญาตให้ผู้ที่ไม่ได้เรียนจบในวุฒิศึกษาศาสตร์บัณฑิต หรือครุศาสตร์บัณฑิต และไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแต่มีความรู้ความสามารถมาเป็นครูสอนได้ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู ตามแนวทางที่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมองว่าที่น่าห่วง คือ ปัญหาการขาดแคลนครูช่างของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพราะผู้ที่จบตรงด้านการศึกษาแท้จริงนั้น ไม่มีคนที่เรียนช่างมาโดยตรงทำให้เวลาเปิดรับสมัครสอบบรรจุไม่มีคนมาสอบ ขณะที่ผู้ที่เรียนสายช่าง อย่างวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโยธา หรือสาขาอื่นๆ ก็จบด้วยวุฒิการศึกษาเฉพาะซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับครูและไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ดังนั้น เบื้องต้นจะเสนอคุรุสภาให้ยกเว้นให้กลุ่มคนดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษในเวลา 3 ปี โดยในระหว่าง 3 ปีก็มีการประเมินคุณภาพการสอน ซึ่งหากผ่านการประเมินก็จะออกใบประกาศนียบัตรวิชาชีพครูให้กลุ่มคนดังกล่าวได้

“ในเร็วๆนี้ ผมจะเข้าหารือกับ นายดิเรก พรสีมา ประธานคณะกรรมการคุรุสภา เพื่อหารือเรื่องการเปิดช่องทางพิเศษให้กลุ่มคนดังกล่าว รวมถึงหารือในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีปัญหาขาดแคลนครู ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และภาษาต่างประเทศที่บางภาษาหาครูสอนไม่ได้ เช่น ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ว่า จะสามารถเปิดช่องทางพิเศษได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และวิธีการที่คุรุสภากำหนด เพราะการยกเว้นดังกล่าวเป็นอำนาจของคุรุสภา ซึ่งระหว่างนี้ผมได้ขอให้ทั้ง สอศ.และสพฐ.ไปสำรวจจำนวนครูในสาขาที่ขาดแคลนเพื่อเสนอให้คุรุสภาต่อไป” นายอภิชาติ กล่าว

นายดิเรก กล่าวว่า ปัจจุบันคุรุสภาก็ดำเนินการแบบเดียวกับแนวคิดดังกล่าวอยู่แล้ว โดยในข้อบังคับของคุรุสภาได้มีการกำหนดให้ออกใบอนุญาตปฏิบัติการสอนให้ครูผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว ในระยะเวลาการสอน 2 ปีแล้วก็ประเมินผลการสอน ซึ่งหากว่าผ่านการประเมินคุรุสภาก็จะออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้ ทั้งนี้ หากปลัด ศธ.ต้องการจะต่อรองให้เปิดช่องทางพิเศษให้กลุ่มคนดังกล่าว โดยขอให้ยกเว้นการใช้ใบอนุญาตฯ เพื่อให้กลุ่มคนดังกล่าวได้เข้าสอน ในระยะเวลา 3 ปี แล้วค่อยประเมินผลการสอน ก็ต้องมาหารือกันก่อนเพื่อจะแก้ในข้อบังคับของคุรุสภาต่อไป

ผมคิดว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาครูขาดแคลนได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น เพราะการแก้ปัญหาระยะยาวต้องให้ผู้ผลิตอย่างมหาวิทยาลัย และผู้ใช้อย่างหน่วยงานที่มีครูอยู่ในสังกัด มาคุยร่วมกันว่าในแต่ละปีต้องการครูสายไหน จำนวนเท่าไหร่ เพื่อให้ผู้ผลิตได้ทราบข้อมูล จะได้ผลิตได้ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ร่วมกัน จะได้ไม่เกิดปัญหาขาดแคลนครูดังกล่าว เพราะอย่างประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ ที่มีปัญหาครูขาดแคลน เขาก็ใช้แผนดังกล่าวและก็ประสบผลสำเร็จไปแล้ว” ประธานบอร์ดคุรุสภา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น