xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมประกาศหลักเกณฑ์ครูพันธุ์ใหม่ ป.บัณฑิต 24 พ.ค.นี้ เสนอเรียนเพิ่มเป็น 3 เทอม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สมหวัง” เตรียมประกาศหลักเกณฑ์ครูพันธุ์ใหม่ ป.บัณฑิต 24 พ.ค.นี้ เสนอเรียนเพิ่ม จาก 1 ปี เป็น 3 เทอม ชี้ หลักสูตรเร่งรัด กลัวความรู้ไม่เพียงพอ หนุนคุรุสภาจัดสอบขอใบประกาศนียบัตรวิชาชีพครู แต่ห่วงการทดสอบ วัดครูสอนแล้วเด็กมีความสุข มีแรงบันดาลใจ เรียนรู้ด้วยตนเอง ชี้วัดจากเนื้อหากลุ่มสาระที่ครูเรียนไม่ได้ ย้ำ สทศ.พร้อมร่วมมือดำเนินการสร้างวิธีการวัด
สมหวัง พิธิยานุวัฒน์
ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ในฐานะอนุกรรมการปฏิรูปการศึกษาด้านครุศึกษาแห่งชาติและประธานคณะกรรมการคัดเลือกสถาบันฝ่ายผลิตและผู้รับทุนโครงการครูพันธุ์ใหม่ เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการ ว่า ในปีการศึกษา 2554 นี้ โครงการดังกล่าวจะเป็นการผลิตครูพันธุ์ใหม่หลักสูตรปริญญาตรี 5 ปี และหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต 4+1 เท่านั้น โดยขณะนี้ในส่วนของหลักสูตร ปริญญาตรี 5 ปี เกณฑ์ต่างๆ ยังคงเดิม และได้มีการคัดเลือกสถาบันอุดมศึกษาที่ร่วมผลิต จำนวน 58 แห่ง ส่วนหลักสูตร ป.บัณฑิต นั้น จะมีการหารือในการดำเนินการในส่วนของหลักเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยที่สามารถเปิด ป.บัณฑิตได้ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง ในวันที่ 24 พ.ค.2554 นี้

ศ.ดร.สมหวัง กล่าวต่อว่า จากนั้นเมื่อได้หลักเกณฑ์ต่างๆ จะนำเสนอไปที่ทางคุรุสภา เพื่อขออนุมัติเป็นกรณีเฉพาะ เนื่องจากโดยหลักการขณะนี้คุรุสภายกเลิกป.บัณฑิตแล้ว แต่มีความจำเป็นที่ต้องผลิตบัณฑิตระดับ ป.บัณฑิต เพราะตอนนี้โรงเรียนทั้งระดับอาชีวะ มัธยมศึกษา ยังขาดแคลนครูในสาขาด้านๆ อาทิ ครูสายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องผลิตบัณฑิตป.บัณฑิต นอกจากนั้นจะมีการเสนอให้มีการ การเพิ่มเติม จาก 1 ปี เป็น 3 ภาคเรียน เพราะว่าหลักสูตรเร่งรัดเกินไป 1 ปี ทำให้เรียนได้เพียงครึ่งปี อีกครึ่งปีไปฝึกสอน ไม่เพียงพอ จึงขอเพิ่มเป็นหลักสูตร 3 ภาคเรียน

ทั้งนี้ สำหรับการคัดเลือกสถาบันนั้น ในส่วนของหลักสูตร ป.บัณฑิต ต้องรอประกาศเกณฑ์ ในวันที่ 24 พ.ค.นี้ และหลังจากนั้น จะให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเสนอชื่อเข้ามา และทางคณะกรรมการจะทำการคัดเลือกก่อนจะเสนอไปที่คุรุสภา อย่างไรก็ตาม หลักสูตร ป.บัณฑิต ในกรณีพิเศษของโครงการ ได้มีการกำหนดเงื่อนไขโดยสถาบันอุดมศึกษาที่จะร่วมผลิต ต้องมีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ หรือจัดการเรียนการสอน หลักสูตร 5 ปีร่วมด้วย ฉะนั้น สถาบันอุดมศึกษาแห่งใดที่ทำไร่เลื่อนลอยคงไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวเป็นวิธีการช่วยป้องกันการซื้อขายปริญญาร่วมด้วย

ศ.ดร.สมหวัง กล่าวต่อว่า กรณีที่ทางคุรุสภาจะให้จัดสอบใบประกาศนียบัตรวิชาาชีพครูนั้นเป็นทางแก้ปัญหาอีกวิธีหนึ่ง แต่โดยส่วนตัวตอนแรกไม่ค่อยเห็นด้วยที่คุรุสภาต้องมาทดสอบครูเป็นรายคน แต่เมื่อเกิดกรณีการซื้อขายปริญญา คิดว่า จำเป็นที่ต้องมีการจัดสอบ เพราะไม่สามารถจะดูเฉพาะกระดาษหลักสูตรที่เขียนออกมา และรับรองให้ใบประกาศนียบัตรออกไปได้ ซึ่งหากมีการดำเนินงานจริงๆ ต้องดูผลว่าเป็นอย่างไร และถ้าดำเนินการแบบนี้ ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า เพื่อช่วยกระตุ้นให้กลับเข้าที่ หลังจากนั้น อาจกลับมาใช้รูปแบบเก่าที่วางเอาไว้ก็ได้

“เห็นด้วยที่จะให้มีการทดสอบ แต่ประเด็นคือสอบอะไร และสอบอย่างไร เพราะเรื่องครู สิ่งสำคัญที่สุด คือ สอนแล้วเด็กมีความสุข มีแรงบันดาลใจ เรียนรู้ด้วยตนเอง แต่การจะวัดในรูปแบบวัดเนื้อหา 9 กลุ่มสาระที่กำหนด คงไม่ประกันว่าครูจะมีคุณภาพ ซึ่งคุรุสภาได้คุยกับตนในฐานะประธานบอร์ดสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพื่อขอความร่วมมือ ผนึกกำลังคนที่มีความสามารถเรื่องการวัดผล ซึ่งเรื่องการวัดผลประเทศไทยดีที่สุดในอาเซียน ฉะนั้น หากร่วมมือกันดำเนินการในการสร้างวิธีการวัดที่อาจไม่ใช่เขียนตอบเท่านั้น แต่อาจมีการดูจากประวัติ ผลงานที่ผ่านมาในอดีต ผลการทำงานต่างๆ มาประกอบกัน และอาจต้องใช้การวัดที่ซับซ้อนพอสมควร เพราะถ้าออกข้อสอบ เพื่อให้เกิดการท่องจำ คงไม่สามารถการันตีได้ว่าครูที่ได้ใบประกาศนียบัตรวิชาชีพครู จะไปสอนให้เด็กมีความสุขและสนุกไปกับการเรียนได้ ส่วนจะเริ่มจัดสอบปีไหน เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับทางคุรุสภา” ศ.ดร.สมหวัง กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น